ทำเนียบฯ 7 ก.ย.- รองนายกฯ ยืนยัน ไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ยึดทรัพย์ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แต่หากต้องดำเนินการ จะใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อให้อำนาจกรมบังคับคดี ยึดทรัพย์ตามคำสั่งทางปกครองเท่านั้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปยึดทรัพย์กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แทนการดำเนินคดีทางศาล ว่า ไม่เคยมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และจะไม่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อไปยึดทรัพย์ใคร และไม่เคยมีความคิดที่จะใช้กระบวนการใด ๆ นอกเหนือกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ ยังคงดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2539 แต่ยอมรับว่ามีปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรการ คือ เมื่อมีคำสั่งทางปกครองออกไปก่อนหน้านี้ 3,000 คดี ที่มีมูลค่าความเสียหายไม่มากนัก เจ้าหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ สามารถทำการยึดทรัพย์ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในระยะหลัง เช่นเรื่องข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือพืชเกษตรตัวอื่น ๆ ที่มีการทุจริต จนนำมาสู่การมีคำสั่งทางปกครอง มีมูลค่าความเสียหายมาก เจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่รับผิดชอบ ไม่สามารถทำการยึดทรัพย์ได้ จึงมีแนวคิดว่าจะให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ
“กำลังคิดว่าจะให้ใครไปเป็นคนช่วยจัดการให้ ผมก็ถามว่าที่แล้วมา 3,000 คดี ใครเป็นคนจัดการ คำตอบก็คือกระทรวงใคร กระทรวงมัน แต่คราวนี้ มาเจอกันหลายพันล้าน หลายหมื่นล้าน เขาไม่มีปัญญาที่จะไปทำหรอก เพราะเวลาทำมาหากินของกระทรวงเหล่านี้เป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เป็นมืออาชีพมาทำเรื่องนี้ จึงอาจจะต้องให้หน่วยงานอื่นมาจัดการแทน ซึ่งตรงนี้จึงต้องใช้มาตรา 44 ไม่เช่นนั้นจะให้หน่วยงานอื่นมาทำได้อย่างไร ถ้าจะมีการใช้มาตรา 44 ก็ประเด็นนี้เท่านั้น ” นายวิษณุ กล่าว
ต่อข้อถามว่า แสดงว่ามีคนคิดเรื่องนี้ไว้แล้วใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อาจจะมีคนนำสิ่งที่ตนพูด ไปพูดกันต่อ ซึ่งอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าจะใช้อำนาจมาตรา 44 ในการยึดทรัพย์ ซึ่งต้องดูว่าหน่วยงานใดสามารถดำเนินการได้ เพราะมองว่ากระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่หน่วยงานที่น่าจะสามารถทำได้ คือกรมบังคับคดี ซึ่งมีหน้าที่โดยตรง แต่เนื่องจากว่า กรมบังคับคดีจะทำหน้าที่ยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาล ไม่ได้ทำหน้าที่ยึดทรัพย์ตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีไปยึดทรัพย์ คือกรณีเข้าไปยึดทรัพย์รีสอร์ทเอกชนที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ ดังนั้นในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ก็อาจจะใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่การกลั่นแกล้งใคร แต่เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด และในคดีดังกล่าวมีอายุความสั้น จึงต้องเร่งดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย