สำนักข่าวไทย 5 ธ.ค. – เกษตรกรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากพันธุ์ผักพระราชทาน สร้างรายได้ อย่างมีสุข แถมปลอดหนี้
ในวันนี้ ก็มีหลายกิจกรรม จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานต่อประเทศไทยและชาวไทยเสมอมา ในวันนี้ เป็นทั้งวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ หลายแห่งรถติดเพราะครอบครัวพาคุณพ่อไปรับประทานอาหาร
ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาหลากหลายและหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ และพืชผักนี้อยู่ในศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง, สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพันธุ์เมล็ดผักจากมูลนิธิชัยพัฒนามาให้ชาวบ้านละแวกนี้ นำไปปลูกเพื่อไว้รับประทานในครัวเรือน หลังจากทรงสอบถามชาวบ้านและพบว่า ไม่มีการปลูกผักเอาไว้รับประทานเอง
โดยพันธุ์ผักที่พระราชทาน ชาวบ้านก็นำไปปลูกกลายเป็นพืชผักปลอดสารพิษลดรายจ่าย และในขณะนี้สร้างรายได้เพิ่ม โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้มีการนำพืชผักพระราชทาน เพาะขยายแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกซ้ำ ผักที่ปลูกเป็นผักปลอดสารพิษ ชาวบ้านปลูกก็มีการแจกจ่าย และเมื่อเหลือก็มีการรวมกลุ่มกันจำหน่าย สร้างรายได้เพิ่ม ผู้สื่อข่าว บอกว่า พันธุ์ผักที่ปลูกมีความสด กรอบ อร่อย โดยเฉพาะถั่วฝักยาวสีม่วง “สิรินธร เบอร์ 1” พันธุ์ผักนามพระราชทาน แช่ตู้เย็นไว้หลายวันก็ยังอร่อย ถั่วฝักยาวอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและ ยังช่วยลดน้ำหนัก เพราะมีปริมาณโปรตีน แทบจะไม่มีไขมันเลย ที่สำคัญคือมีใยอาหารสูง ช่วยทำให้อิ่มนานขึ้น
อีกทฤษฎีหนึ่งที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทาน คือ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกันที่จะเตรียมตัวให้พร้อมคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
ลุงเขียน สร้อยสม ชาว อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เดิมเป็นหนี้ เลี้ยงกุ้งเยอะมาก นำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และได้นำหญ้าแฝกซึ่งเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาว่า ศึกษาทดสอบการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน โดยลุงเขียนไปดูงานและนำมาปรับใช้กับพื้นที่ที่ตนเอาศัยอยู่ เดิมที่พื้นที่นี้ปลูกอะไรไม่ขึ้นสักอย่างเป็นดินดาน พอนำหญ้าแฝกมาใช้ในการช่วยดูดซับน้ำ พื้นที่กลายเป็นเขียวชะอุ่มชุ่มชื้น สมบูรณ์ ปลูกผักสร้างรายได้ลดรายจ่าย ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ และลุงเขียนก็เดินสายให้ความรู้ด้านหน้าแฝกเป็นประธานเครือข่ายคนรักษ์แฝก ได้รางวัลหลากหลาย .- สำนักข่าวไทย