นนทบุรี 3 ธ.ค. – กระทรวงพาณิชย์เผยกลุ่มอาหารยังสูงต่อเนื่องดึงเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 61 สูงในอัตราชะลอตัวร้อยละ 0.94 โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันลดต่อเนื่อง แต่ดันสินค้าเกษตรบางรายการดีขึ้น คาดการณ์เงินเฟ้อ 62 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค. ) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยระบุว่าอัตราเงินเฟ้อขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง แต่ยังสูงขึ้นร้อยละ 0.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.04 ขณะที่หมวดอุตสาหกรรมและหมวดปิโตรเลียมที่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ตอนนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้นลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2561 ยังขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงน่าจะขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 จะส่งผลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8-1.6 หรือเฉลี่ยค่ากลางอยู่ร้อยละ 1.2 แม้ว่าในช่วงปลายปีจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านบัตรสวัสดิการบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มมากนัก
อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.13 มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อาหาร และเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 4.12 และในกลุ่มข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 แต่ภาพรวมทั้งประเทศราคายังไม่ปรับขึ้นมากนัก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ เช่น ข้าว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 โดยสมมติฐานคาดการณ์จีดีพีของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมัน เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย