เชียงราย 26 พ.ย.- เจียงฮายเกมส์ จัดได้ตามแผนที่วางไว้พร้อมยกระดับกีฬาแห่งชาติให้มีมูลค่า และศิลปะที่ลงตัว ติดตามกับคุณสมยศ แดงยวน ในช่วงเกาะติด “เจียงฮายเกมส์”
หลังจากจังหวัดเชียงรายกลับมาเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติอีกครั้งในรอบ 33 ปี ใน “เจียงฮายเกมส์” ซึ่งการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ เชียงรายเตรียมงานมายาวนาน และได้จัดกิจกรรมทุกอย่างรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวทำให้ภาคส่วนต่างๆ ออกมาร่วม และได้ดึงจุดเด่นของจังหวัดนำมาใช้ทำให้กีฬาแห่งชาติกลับมาคึกคักและมีสีสันมากยิ่งขึ้นไม่ใช่มีเพียงแค่การแข่งขันกีฬา แต่สามารถยกระดับกีฬาแห่งชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพิ่มเป็นมูลค่ามากมาย
ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่วงการกีฬามีโอกาสโคจรมาพบกับวงการศิลปะ เนื่องจากเชียงรายเป็นเมืองที่มีศิลปินมากที่สุด ที่ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 จังหวัดของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งศิลปะ การจัดการแข่งขันจึงหลอมรวมควบคู่กันไป เริ่มตั้งแต่ป้ายแต่ละจังหวัดที่สื่อถึงจังหวัดนั้นๆ
ซึ่งเห็นได้จาก 3 สัญลักษณ์โลโก้ของ “เจียงฮายเกมส์” ที่จังหวัดเลือกมาใช้ เริ่มจากบนสุดของตราสัญลักษณ์เป็นทรงพิพิธภัณฑ์บ้านดำของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สื่อถึงปรัชญามนต์ขลังของการแข่งขัน ส่วนรูปโบสถ์สีขาวสื่อถึงวัดร่องขุ่น ที่ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สร้างขึ้นสื่อความหมายถึงวิจิตรบรรจงของเกมการแข่งขัน และศิลปะของเกมทรงพลัง สีเหลือง ที่มีเลข 46 ที่มีตัวเลขไทย เป็นสีแห่งสัญลักษณ์ของสถาบันพุทธศาสนาของวิหารดิน ไร่เชิญตะวัน ท่านพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี สื่อถึงการมีสติ มีน้ำใจเป็นนักกีฬา และรู้จักประมาณตน ซึ่งทั้ง 3 สัญลักษณ์สื่อถึงวัฒนธรรมและศิลปะไว้ศึกษาและเรียนรู้ รวมถึงเหรียญรางวัลที่จัดทำได้อย่างสวยงามและมีคุณค่าต่อนักกีฬาของนักกีฬา.-สำนักข่าวไทย