กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่ง กยท.เพิ่มจุดรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง หวังลดต้นทุนค่าขนส่ง-ก่อสร้างถนนยางพารา
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จังหวัดและผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดหลายจังหวัดรายงานว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประสงค์สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา โดยจังหวัดที่ทำถนนสายสาธิตหนองบัวลำภู นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดประสาน อปท. เพื่อเชิญชวนเข้าร่วมโครงการแล้ว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก กษ.จังหวัดอุทัยธานีและนายสุชิน เถื่อนม่วง ผอ.กยท.จังหวัดอุทัยธานีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีกำหนดเชิญ อปท.ทุกแห่งมาประชุม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจที่ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ เวลา 09.30 น. โดยจะขอความร่วมมือ อปท.ใช้งบประมาณเหลือจ่าย งบประมาณสะสม หรืองบอื่น ๆ มาสร้างถนนงานดินผสมยางพาราในตำบลและหมู่บ้านอย่างน้อยแห่งละ 1 สาย ๆ ละอย่างน้อย 1 กิโลเมตร ทั้งนี้ จังหวัดอุทัยธานีมีสถาบันเกษตรกรทำสวนยางพารา แต่ขายเป็นยางแผ่นดิบไม่ได้ขายเป็นน้ำยางสด เนื่องจากไม่มีโรงงานแปรรูปยางพารา จึงไม่มีจุดรับซื้อน้ำยางสดในพื้นที่ เบื้องต้นจึงประสาน กยท.จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอรับซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกร แต่หาก อปท.ที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนมากจะหาแนวทางให้สหกรณ์ชาวสวนยางเปิดเป็นจุดรับซื้อน้ำยางสด เพื่อเกษตรกรในพื้นที่ขายน้ำยางได้ในราคาสูงขึ้น อีกทั้งสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้
สำหรับถนนตัวอย่างที่ดำเนินการแล้ว คือ ถนนคันคลองชลประทาน ตำบลทุ่งโพ อำเภอหนองฉาง ดำเนินการโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา อำเภอลานสัก ซึ่งกรมชลประทานจัดทำโดยใช้งบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เดิมเป็นถนนแอสฟัลท์ทรุดโทรมแล้ว จึงปรับปรุงผิวทาง โดยทำรูปแบบงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต ซึ่งนำยางมะตอยเดิมมารีไซเคิล ปั่นผสมซีเมนต์และหินคลุกพร้อมบดอัดแน่น ราดไพร์มโคท แล้วขั้นตอนสุดท้ายจึงราดยางพาราแอสฟัลท์เป็นผิวทาง ความยาว 7.918 กิโลเมตร งบประมาณ 40 ล้านบาท โดย กยท.จังหวัดพร้อมนำเสนอแบบก่อสร้าง สูตรผสมในการทำถนนได้ทั้งในแบบถนนงานยางพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีตและถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา ซึ่งใช้ยางพาราผสมกับลูกรังและปูนซีเมนต์สูตรผสมยางพาราประมาณ 12 ตันต่อกิโลเมตรต่อความกว้างถนน 6 เมตรเป็นผิวทางเช่นกัน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กยท.พิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อน้ำยางสดในจังหวัดอื่นที่ยังไม่มีจุดรับซื้อด้วยเพื่อจะได้ใช้ผลผลิตยางจากเกษตรกรในท้องถิ่น
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่มีข้อเสนอของสถาบันเกษตรกรที่ต้องการให้ อปท.รับซื้อน้ำยางสดราคากิโลกรัมละ 60 บาท โดยขณะนี้ราคาซื้อขายน้ำยางสดตลาดกลาง กยท.กิโลกรัมละประมาณ 37 บาทนั้น มีตัวอย่างจากจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่ง ผอ.กยท.หนองบัวลำภูรายงานว่าการซื้อขายน้ำยางสดจะคิดที่ราคาน้ำยางข้น 60% โดยวันที่ 15 พฤศจิกายน อบจ.หนองบัวลำภูรับซื้อน้ำยางสดจากสหกรณ์ 1,200 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 26.67 บาท กลุ่มเกษตรกรมีรายได้ 32,004 บาท ทั้งนี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำแอมโมเนียและสารกันกอกเพื่อป้องกันยางจับตัวเป็นก้อนมาผสม รวมทั้งค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก 10.23 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในวันเดียวกันนั้นที่ตลาดกลางยางพาราสงขลาน้ำยางข้น 60% อยู่ที่กิโลกรัมละ 36 บาท ดังนั้น หากขายน้ำยางสด 1,200 กิโลกรัมตามเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งเท่ากับ 348.16 กิโลกรัม ตามราคาตลาดกลางสงขลาจะขายได้ 12,533.76 บาท เมื่อเปรียบเทียบแล้วราคาที่สหกรณ์ขายให้ อบจ. หนองบัวลำภูอยู่ที่กิโลกรัมละ 55.31 บาท สูงกว่าตลาดกลางสงขลาถึง 19.31 บาทต่อกิโลกรัม หาก อปท. สนับสนุนโครงการนี้จะทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ซึ่งจะเกิดผลดีต่อเกษตรกรอย่างมาก.-สำนักข่าวไทย