กทม. 23 พ.ย.-สำนักงาน กกต. จัดอบรมให้ความรู้กับสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ เพื่อโชว์ความพร้อมการเลือก ส.ว. หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือก ส.ว. แล้ว ด้านอดีต กรธ.ชี้ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อร่วมปฏิรูปประเทศ
นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายเรื่อง “เจตนารมณ์ของกฎหมายในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา” ว่า ที่มาของ ส.ว. ตามบท
บัญญัติของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกกันเองในกลุ่ม 10 วิชาชีพ เพราะต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วม และกำหนดให้ในช่วง 5 ปีแรกมี 250 คน โดยจะมีหน้าที่พิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ส. โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ หรือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องร่วมกันพิจารณาทันที ไม่ต้องรอระยะเวลาเป็นขั้นเป็นตอนแบบที่ผ่านมา
ส่วนอีกหนึ่งบทบาทของ ส.ว. ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ไม่สามารถพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ ส.ว. ปราศจากข้อครหาว่าถูกการเมืองครอบงำ หรือมีปัญหาเรื่องการวิ่งเต้น จึงให้อำนาจ ป.ป.ช. พิจารณา และส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในการถอดถอน และการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. อาจเป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างอยากให้มีส่วนร่วมในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ โดยไม่อยากให้มองว่าเป็นการร่วมมือเพื่อสืบทอดอำนาจ เพราะการดำเนินการบางเรื่องต้องอาศัยระยะเวลา
แต่ทั้งนี้ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าระบบการเลือกกันเองของ ส.ว. เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยสนใจ เพราะมองว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ก็เป็นไปตามบทเฉพาะกาล อาจไม่เข้มข้น และผู้ที่จะผ่านเข้าไปเป็น 50 คน หรือที่เรียกว่าเป็นตัวจริง เป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม จะถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้เป็นผู้ทดลองระบบเลือกกันเอง จากการเลือก ส.ว. ในครั้งนี้ .-สำนักข่าวไทย