กทม. 19 พ.ย.-ข่าวที่เกิดขึ้นช่วงนี้ หลายข่าวเป็นประเด็นอ่อนไหวของแพทย์กับผู้ป่วย ทั้งปฏิเสธการรักษา จนถึงการทำอนาจาร ส่งผลมีการฟ้องร้องขึ้นศาล จะมีทางออกของกรณีคนไข้ฟ้องหมออย่างไร ติดตามจากรายงาน
ด้วยคำพูดที่ว่า “เพียงแค่จิ้มเข็ม ฉีดยาผ่านเข้าเนื้ออาจเป็นการทำร้ายผู้ป่วยได้แล้ว” ถูกหยิบยกมากล่าวสะท้อนมุมมองภาพลบของการรักษาคนไข้ ที่แม้เป็นเพียงการฉีดยาหรือเจาะเลือดขั้นพื้นฐาน หากเกิดผลไม่พึงปรารถนา สิ่งนั้นก็อาจเป็นความผิดของหมอได้
ในการประชุมเพื่อหาทางออก กรณีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมกับความผิดอาญา กรรมการแพทยสภาชี้ที่ผ่านมาแม้มีการฟ้องคดีแพ่งกับแพทย์มากกว่าคดีอาญา แต่ก็กระทบกับจิตใจและการทำงานของแพทย์มาก ยิ่งระยะ 10 ปีมานี้ เกิดลักษณะของการค้าความ มีการมอนิเตอร์ ตรวจสอบไปตามห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเสนอกลไกฟ้องแพทย์ให้ฟรี ตนเสนอให้กฎหมายคุ้มครองแพทย์
ขณะที่นักกฎหมายย้ำไม่มีวิธีใดที่จะช่วยให้แพทย์พ้นจากการถูกฟ้องคดีอาญาไปได้ เพราะถือว่าแพทย์สวมหมวก 2 ใบ แม้ทำงานตาม พ.ร.บ.วิชาชีพแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตัวภายใต้กฎหมายด้วย หากถูกคนไข้ฟ้องก็ต้องพิจารณาตามเหตุผล เช่น กรณีคนไข้ถูกน้ำกรด ถ้าการยอมให้คนไข้ออกไปรักษาที่อื่นจะเป็นการทอดทิ้ง ละเลยต่อการรักษาหรือไม่ ทุกอย่างต้องมีเหตุผล แต่ยอมรับว่าบริบทของสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปจริง ทำให้การฟ้องหมอมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งประเด็นค่ารักษาพยาบาล และสิทธิการรักษา ที่อาจทำให้โรงพยาบาลเห็นประโยชน์อื่นมากกว่าการรักษาชีวิต ทางออกในเรื่องนี้เช่นที่บางประเทศทำอยู่คือ การมีระบบอนุญาโตตุลาการ ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม จะมีคนกลาง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ มาหาทางออกร่วมกัน
ด้านเลขาฯ สมาคมคลินิกเอกชน และเป็นสูตินรีแพทย์ เสนอว่าการฟ้องร้องจะบรรเทาลงได้ ถ้าขั้นตอนการรักษาและข้อมูลที่ถูกต้องได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่หากเกิดความผิดพลาดจากการรักษา การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีที่ดีกว่าการฟ้องร้อง เพราะเชื่อว่าไม่มีแพทย์คนไหนอยากรักษาผิดพลาด แพทย์เองย่อมมี กฎหมายวิชาชีพ เป็นกรอบควบคุมการทำงานอยู่ กรณีแพทย์ถูกฟ้องทำอนาจาร ตามมาตรฐานวิชาชีพก็กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าการตรวจภายในโดยไม่มีบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผู้หญิง ร่วมอยู่ด้วยก็ถือว่ามีความผิดแล้ว
สำหรับสถานการณ์การฟ้องร้องแพทย์นั้น จากสถิติ 20 ปีย้อนหลัง พบว่ามีทั้งสิ้น 499 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 287 คดี คดีอาญา 41 คดี คดีผู้บริโภค 168 คดี และคดีปกครอง 3 คดี มีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 68 คดี กระทรวงสาธารณสุข ชนะ 47 คดี แพ้ 21 คดี และมีถึง 164 คดี ที่เจรจาไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ
ส่วนสาเหตุของการฟ้องคดี ส่วนใหญ่มาจากการรักษาและวินิจฉัยที่ผิดพลาด รองลงมา 24% คือการคลอด และสาเหตุอื่นๆ อาทิ ไม่เอาใจใส่ดูแล แพ้ยา ผิดมาตรฐาน รวมทั้งอุปกรณ์มีปัญหา.-สำนักข่าวไทย