กรุงเทพฯ 17 พ.ย.-นักการวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เชื่อคนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น เพราะเบื่อหน่ายการเมืองเดิม แต่โอกาสประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมีเพียง 50 ต่อ 50
นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ทางการเมือง คือ ภูมิทัศน์ทางการเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และกติกาใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายส่วน โดยในส่วนภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีแห่งความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทย เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในระบบรัฐสภา หรือการเมืองในแบบเดิม ๆ ที่มองเฉพาะกฎหมายและแง่มุมการทำงาน การใช้สำนวนโวหารในการอภิปราย อาจไม่ใช่คำตอบที่สามารถจะแก้ไขปัญหาที่สังคมต้องการ ที่จะตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ คือ คนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเข้าสู่ทางการเมืองในจำนวนไม่น้อย
นายยุทธพร กล่าวด้วยว่า ขณะที่การตอบรับจากสังคม ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง เพราะสังคมมองว่าเป็นการเมืองมิติใหม่ ไม่ใช่รูปแบบเดิม ขณะที่กติกาการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปที่สำคัญอย่างมาก คือ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ควบคุมกำกับการดำเนินการของพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งหลังการเลือกตั้ง ยังมีกระบวนการควบคุมกำกับอยู่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ทางการเมือง ซึ่งคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่การเมือง จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ มีทั้งคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์ชัดเจน มีเจตจำนงเข้ามาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเพราะเป็นทายาททางการเมือง ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่มากนัก
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองตื่นตัวให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานด้วย เนื่องจากคนเริ่มเบื่อหน่ายการเมืองหน้าเดิม ๆ หรือนักการเมืองหน้าเดิม ๆ อาจจะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย บรรดาพรรคการเมืองก็พยายามหาตัวเลือกทางการเมืองใหม่ ๆ ดังนั้นการมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่หน้าเดิมเพื่อเป็นจุดขายของพรรค เป็นส่วนสำคัญทำให้พรรคการเมืองตื่นตัวให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ส่วนในแง่ปัจจัยของกระแสโลก ทำให้คนสนใจการเมืองมากขึ้นเช่นกัน เพราะคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในเวทีโลกมีขึ้นอย่างมากมายในระยะหลัง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และพรรคการเมืองก็มองว่าเป็นทางออกในการปรับตัวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน ที่สำคัญคือกติกาที่เปลี่ยนไปในระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีโอกาสได้รับการเลือก ส.ส.มากขึ้น ทุกพรรคได้รับการนับคะแนนทั้งหมด พรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยคนรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้นมาจำนวนไม่น้อย รวมทั้งพรรคการเมืองเดิมที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลงพื้นที่ในสนามการเมืองเดิม แต่การเปิดตัวคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะเปิดตัวด้วยลักษณะการจูงใจคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ ทั้งการเปิดตัวด้วยการขายหน้าตา เรื่องของความหล่อ ความสวย ความสามารถพิเศษ เป็นต้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ให้พรรคการเมืองมีตัวเลือกใหม่ ๆ จะนำมาขายกับสังคม
“ส่วนตัวมองว่าโอกาสของนักการเมืองหน้าใหม่ที่จะประสบความสำเร็จ ต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือ นักการเมืองที่มาโดยตระกูลการเมือง ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์หรือไม่อย่างไร ซึ่งมีโอกาสสูงในการได้รับการเลือกตั้ง เพราะเป็นคนที่มีฐานเสียงอยู่เดิมในพื้นที่และบารมีที่ยังมีอยู่รุ่นต่อรุ่น ในขณะที่นักการเมืองรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ใช่ทายาทตระกูลการเมืองที่อาจมาจากหลากหลายวงการ ปัจจัยความสำเร็จของคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องฐานเสียงระดับพื้นที่ แต่ปัจจัยมาจากเครื่องมือใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ทั้งการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือการสร้างกระแสทางสังคม การมีจุดขายของตัวเอง ดังนั้นภาพรวมที่โอกาสนักการเมืองกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จก็ยังมีอยู่แค่ร้อยละ 50 ซึ่งหลายคนอาจจะฝากความหวังไว้ที่กลุ่มที่มีสิทธิ์โหวตเลือกตั้งครั้งแรก แต่อย่าลืมว่ากลุ่มนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามีอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองอย่างไร ที่สำคัญจะออกมาใช้สิทธิ์มากน้อยอย่างไร เพราะที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้ จะออกมาใช้สิทธิ์แค่เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามานั้น มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่เพียงครึ่งต่อครึ่งเท่านั้น” นายยุทธพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย