กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – ธปท.ชี้การใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชาชน และใช้เวลาในการศึกษาเพราะมีความซับซ้อน
กรณีที่นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะให้ธนาคารกลางทั่วโลกพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการออกสกุลเงินดิจิทัลในอนาคต เพื่อลดการใช้เงินสดนั้น
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นการทั่วไปกับประชาชนนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากมีความซับซ้อน รวมถึงความพร้อมของคนในสังคม กฎเกณฑ์ เทคโนโลยีที่ต้องมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะกับประเทศเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา และคงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วในช่วง 3-5 ปีนี้
“สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือระบบ อี -เพย์เม้นท์ ให้มีประสิทธิภาพที่ดี พัฒนาระบบคิวอาร์โค้ด เพื่อลดการใช้เงินสด เพราะการออกเงินสกุลดิจิทัล ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดูตัวอย่างประเทศสวีเดน ที่มีการใช้อี-เพย์เม้นท์เกือบทั้งหมด ยังมองว่า การใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอยู่ที่ความพร้อมของประชาชนเป็นหลัก” นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธปท. ยังไม่ได้เปิดใช้ Central Bank Digital Currency กับประชาชนเป็นการทั่วไป แต่อยู่ระหว่างการทดสอบกับระบบการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการอินทนนท์ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ขณะเดียวกัน ธปท.ยังอยู่ระหว่างการทดสอบการนำระบบเทคโนโลยีประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology หรือ DLT) มาใช้กับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลแบบไร้ใบตราสาร ซึ่งปัจจุบันจะต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 15 วันทำการ ซึ่งหากนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ จะลดเวลาการทำธุรกรรมเหลือเพียง 2 วันทำการเท่านั้น. – สำนักข่าวไทย