สธ.14พ.ย.-นักวิชาการชี้การผ่อนปรนกัญชาต้องทำภาพรวมเน้นประโยชน์ทางการแพทย์เป็นสำคัญไม่สันทนาการ ขณะที่จิตแพทย์ห่วงวัยรุ่นสำคัญผิดใช้กัญชา ทำสมองเสื่อมระยะยาว ส่อป่วยจิตเวช ย้ำในการรักษาอาการซึมเศร้า ยังไม่ใช้สารสกัดจากกัญชา เพราะยังไม่มีรายงานทางการแพทย์
ในการอภิปรายการผ่อนปรนและแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์ ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิณ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องกัญชายังเป็นการต่อสู้ทางความคิดของแต่ละกลุ่ม ยังไม่มีใครพูดถึงภาพรวมของกัญชาทั้งหมด ยังคงพูดแต่เรื่องการใช้ การเข้าถึงว่าจะเป็นวิถีพื้นบ้าน หรือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การกำกับของแพทย์ หรือการใช้เพื่อรักษาตัวเอง ซึ่งประโยชน์ของกัญชาจะใช้เพื่อเป็นยาเสริมหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตเราต้องเป็นคนตัดสินใจร่วมกัน โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดของ ป.ป.ส.และร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับ สนช. มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือลดความผิดของผู้เสพ ให้เป็นผู้ป่วย แต่จะต้องควบคุมแค่ไหนต้องดูกรอบกฎหมาย
ส่วนเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารสกัดต้องดูเรื่องการรับรองกำกับว่าจะทำอย่างไร เป็นแบบแพทย์แผนไทย หรือแผนปัจจุบัน การวิจัย ตำรับยาที่ไม่ได้วิจัยแต่ใช้เป็นทางเลือก ทุกอย่างต้องใช้ให้สมดลและปลอดภัย
ด้านนายวิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวว่า แนวคิดผ่อนปรนเรื่องกัญชาออกจากยาเสพติดของไทยมีมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ในปี 2559 (Ungass) กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดด้านสารเสพติดที่เหมาะสม ซึ่งไทยเองก็เป็น1ในประเทศสมาชิก ที่ผ่านมาบางคนมีการครอบครองเพื่อเสพ แต่เมื่อนำเข้ามาที่สนามบินกลับโดนโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งเรื่องนี้ต้องผ่อนปรนอย่างเหมาะสม โดยประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้รวบรวมกฎหมายยาเสพติด 17 ฉบับ 184 มาตรา มาพิจารณาให้เหมาะสม ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ คาดว่าในเดือน ธ.ค.จะผ่านการพิจารณาวาระ 1 ซึ่งจะให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข ในการผ่อนปรนยาเสพติด เพื่อใช้ในการศึกษาหรืออุตสาหกรรมได้ หลักของประมวลกฎหมายยาเสพติด ไม่อนุญาตให้เสพเสรีหรือเพื่อความบันเทิง ครอบคลุมเรื่องของการเพาะปลูกหรือการทดลองเพาะปลูก และการครอบครองต้องเป็นปริมาณที่เหมาะสม อนาคตจะครอบคลุมกระท่อมให้เสพแบบวิถีพื้นบ้านแบบไม่มีความผิด
ขณะที่ นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวในการเสวนาโครงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ ว่า ในการวิจัยใช้กัญชาในการรักษาอาการทางจิตเวชแยกเป็นการใช้แบบเพียวๆ และการใช้สารสกัด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการใช้เพียวๆในระยะแรกมีอาการเสพติดได้แต่ไม่รุนแรง ในระยะ1-2วัน มีคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ประสาทหลอน หูแว่ว สิ่งที่เป็นห่วงคือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอาจมีการใช้กัญชาเพราะจะทำให้มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อความจำและสมาธิสั้นมีผลต่อการทำงานของสมองที่แย่ลงอย่างถาวร และในวัยรุ่นอาจส่งผลให้ป่วยเป็นจิตเวช
ส่วนสารสกัดแม้ไม่มีผลที่บ่งชี้ชัดเจนแต่ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และปัจจุบันยังไม่มีการใช้ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ซึมเศร้า มาก่อน เพราะยังไม่พบงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าใช้ได้. -สำนักข่าวไทย