กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – กระทรวงเกษตรฯ ประชุม 2 สมาคมเมล็ดพันธุ์-ผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยติดตามความคืบหน้าโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา พบพื้นที่เหมาะสมเพิ่ม 6 จังหวัด กว่า 50,000 ไร่ ด้านโรงงานผลิตอาหารสัตว์ยืนยันรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรทั้งหมด
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของคนไทยและสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งจากเดิมมีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลางข้าวในเขตชลประทานและพื้นที่นานอกเขตชลประทานที่มีแหล่งน้ำตลอดฤดูเพาะปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเมษายน 2562 รวม 33 จังหวัด และจากการสำรวจสภาพดินและความพร้อมของการจัดสรรน้ำ พบว่ามีอีก 6 จังหวัดที่เหมาะสมเข้าร่วมโครงการ คือ เลย อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร เชียงใหม่ และบึงกาฬ รวมพื้นที่ 50,881 ไร่
ด้านสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยระบุว่าขณะนี้มีบริษัทเมล็ดพันธุ์ขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มรวมเป็น 7 บริษัท ได้แก่ บ. แปซิฟิกเมล็ดพันธุ์ จำกัด บ. เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิวส์ จำกัด บ. ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด บ. เมล็ดพันธุ์เอเชีย จำกัด บ. มอนซานโต จำกัด และบ.ไพโอเนีย จำกัด ซึ่งได้ให้ความรู้เกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคาปัจจัยการผลิตแน่นอน บางบริษัทลดราคาเมล็ดพันธุ์ให้เป็นพิเศษ
ส่วนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุว่ามีผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ 12 บริษัทเข้าร่วมโครงการแน่นอน คือ บ.กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด บ. เบทาโกร จำกัด บ. ไทยฟูดส์ อาหารสัตว์ จำกัด บ.แหลมทองสหการ จำกัด บ.ซันฟีด จำกัด บ.เอส.พี.เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด บ.อินเทคค์ ฟีด จำกัด บ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำกัด บ.กรุงไทยอาหารสัตว์ บ.คาร์กิลล์สยาม จำกัด บ.ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์จำกัด และ บ.อาร์ที อะกริเทค จำกัด และยังมีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กอีกหลายแห่งขอเข้าร่วมโครงการด้วย
สำหรับความก้าวหน้าโครงการนั้น ขณะนี้มีเกษตรกรแสดงความจำนงร่วมโครงการ 114, 775 ราย 158,045 แปลง พื้นที่ 1,000,111.75 ไร่ โดยเกษตรกรสมัครร่วมโครงการ 50,092 ราย 88,094 แปลง พื้นที่ 474,907.25 ไร่ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทำสัญญาจ่ายสินเชื่อให้เกษตรกรที่จุดรับสมัคร บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์เริ่มเข้าไปให้ความรู้เกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยบางแห่งทำแปลงสาธิตเพื่อให้ปฏิบัติตามได้ง่าย ถูกหลักวิชาการซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,200 – 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนยันจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดของเกษตรกรทุกเมล็ด โดยจะเข้าไปตั้งจุดรับซื้อครอบคลุมทุกอำเภอจนสิ้นสุดโครงการ.-สำนักข่าวไทย