กรุงเทพฯ 12 พ.ย. – การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์คึกคัก วันนี้ลุ้นเอกชนยักษ์ใหญ่ร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (12 พ.ย.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดรับเอกสารข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. โดยเวลา 11.09 น. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ STEC ได้เข้ายื่นเอกสารรายแรก และต้องจับตาว่าจะมีเอกชนกี่รายเข้ายื่นเอกสารในวันนี้
สำหรับผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับซองข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และต้องชำระ ค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ รฟท. 2 ล้านบาท และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้ รฟท.วันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า การเปิดรับซองประมูลจากเอกชนที่สนใจร่วมดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงิน 224,544 ล้านบาท โดยภายในเดือนธันวาคม 2561 รฟท.จะทราบผลว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ชนะประมูล และเดือน มกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2562 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและลงนามสัญญา ซึ่งตามสัญญาผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วย ระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาการดำเนินการ 45 ปี
สำหรับการเปิดรับข้อเสนอวันนี้เอกชนจะยื่นเอกสารเปิดผนึก 1 ชุด พร้อมข้อเสนอทั้งหมด 4 ซอง ประกอบด้วย ส่วน 1 ข้อเสนอทั่วไปหรือคุณสมบัติ โดยเอกชนต้องผ่านข้อเสนอซองที่ 1 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2 ส่วน 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค รวมถึงการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยเอกชนต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำของข้อเสนอซอง 2 ก่อน จึงได้เปิดข้อเสนอซอง 3 ส่วน 3 ข้อเสนอด้านราคา เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 119,000 ล้านบาท จะเป็นผู้ชนะการประมูล ด้านการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์จะเป็นไปตามราคาที่กำหนดไว้ ไม่มียื่นข้อเสนอหรือต่อรองแต่อย่างใด และส่วนที่ 4 เป็นข้อเสนอด้านอื่น ๆ ไม่มีผลกระทบต่อการแพ้-ชนะในการประมูล
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของ รฟท. เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึงสถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา
โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร เบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2.ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3.ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
ส่วนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ ต้องเป็นการพัฒนาร่วมไปกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ทันที.-สำนักข่าวไทย