ทำเนียบรัฐบาล 9 พ.ย. – นายกฯ สั่งอีอีซีเพิ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมอนุมัติแผนขับเคลื่อนอีอีซีปี 62
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แถลงผลการประชุมอีอีซี ครั้งที่ 5 ว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ขอให้สำนักงานอีอีซีเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากเดิม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของอีอีซี
นอกจากนี้ ยังได้มีมติเห็นชอบความก้าวหน้าในการดำเนินงานอีอีซีที่ผ่านมา ประกอบด้วยแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเห็นชอบโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักที่สำคัญ 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นต้น
คณะกรรมการอีอีซี ยังเห็นชอบจัดทำแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนอีอีซีตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ. 2562 โดยเห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2562 จำนวน 14,862.6146 ล้านบาท ให้กับ 14 กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนอีอีซี พร้อมกันนี้อีอีซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายประเทศ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กำหนดให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในอีอีซีตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 500,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม หลัก ดังนี้ กลุ่มที่ 1 “ดึงการลงทุน” ร่วมกับบีโอไอเป้าหมาย 100,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังจะเร่ง กลุ่มที่ 2 การประชาสัมพันธ์เชิงพื้นที่ “เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน” ให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ทางสำนักงานอีอีซีจะจัดนำเงิน 100 ล้านบาท ตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน รวมตลอดทั้งช่วยเหลือ หรือเยียวยาประชาชนและชุมชนบรรดาที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่อยู่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ส่วนกลุ่มที่ 3 มีการวางแผนอนาคตรองรับการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ การขยายพื้นที่อีอีซี นอกจาก 3 จังหวัด การประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพิ่มเติม การเตรียมการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ เมืองศูนย์กลางการเงิน และ Aerotropolis การพัฒนาแรงงานคุณภาพสูง โดยประสานกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แผนงานสำคัญระยะต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หลังจากรถไฟความเร็วสูงเสร็จปี 2566 เช่น สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย