รัฐสภา 8 พ.ย. -สนช.รับหลักการร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ร่างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานประชุม สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) ที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์กับคณะเป็นผู้เสนอในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหาสาระสำคัญที่สอดคล้องกัน แต่จะลงมติรับหลักการทีละฉบับ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อขยายอัตราโทษจำคุกในคดีที่จะต้องเรียกประกันและหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อให้จำเลยมีอิสรภาพสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมามีการคุมขังจำเลยไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ทำลายหลักฐาน ป้องกันการหลบหนี ทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ป้องกันการครหาว่ามีคุกไว้ขังคนจน สร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชน ที่สำคัญเพื่อขยายอัตราโทษจำคุกในคดีที่จะต้องเรียกประกัน และหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยขยายอัตราโทษจำคุกอย่างสูงจากเดิมที่กำหนดไว้ 5 ปีขึ้นไปเป็น 10 ปีขึ้นไป
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยระบุว่าการกำหนดให้ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ต้องมีประกัน ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันมาวางต่อเจ้าพนักงานหรือศาล ไม่ได้รับโอกาสในการปล่อยชั่วคราว โดยปราศจากมาตรการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหลบหนี เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เพื่อให้ระบบการปล่อยชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดีอาญามีความเหมาะสม สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเป็นธรรม
ด้านสมาชิกสนช.สนับสนุนร่างกฎหมายนี้ โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายกล้านรงค์ จันทิก สนับสนุนร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ พร้อมตั้งข้อสังเกตในมาตรา 161/1 กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์พึงได้โดยมิชอบ ซึ่งเชื่อว่าศาลไตร่ตรองความเสี่ยงที่จะปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยก่อนดำเนินการก่อนเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องชัดเจนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเหตุใด เพื่อให้กระบวนการเกิดความรวดเร็ว สามารถป้องกันการถูกกลั่นแกล้งได้อย่างทันถ่วงที รวมทั้ง ไม่ให้บุคคลนั้น ๆ กระทำตัวเป็นอันธพาลส่งผลร้ายต่อผู้อื่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เสมอในขั้นกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ต้องมีความชัดเจนในข้อความที่จะปรากฏในชั้นศาล มิฉะนั้นจะเป็นการให้อำนาจต่อศาลกว้างเกินไป
ในที่สุด ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) ที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์กับคณะเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ จำนวน 21 คน พร้อมกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานภายใน 30 วัน แปรญัตติใน 7 วัน และใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับที่คณะรัฐมนตรีผู้เสนอเป็นหลักในการพิจารณา
จากนั้น เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายวิษณุชี้แจงว่าเพื่อกำหนดให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้าง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะให้มีรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ขณะที่สมาชิก สนช.อาทิ นายตวง อันทะไชย พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าจะมีมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อสำนักงาน แต่อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงความพร้อมของงบประมาณได้เตรียมการไว้อย่างไร
ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลได้รับคำแนะนำจากสำนักงบประมาณให้ตั้งเป็นรายการในคำของบประมาณประจำปี ซึ่งต้องสอดคล้องกับตำแหน่งที่ขอเพิ่ม เพื่อไม่ให้เกินความจำเป็น นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่กำหนดให้มีตำแหน่งรองเลขาธิการขึ้น เพื่อช่วยงานในสำนักงานได้ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ด้วยคะแนน 175 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 15 คน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานภายใน 30 วัน แปรญัตติ 7 วัน
ต่อมาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน พัฒนาความเชื่อมั่นของการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนภูมิภาคอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนจะมีผลใช้บังคับ เมื่อได้เก็บรักษาตราสาร การอนุวัติ การให้สัตยาบันหรือการยอมรับ โดยกลุ่มรัฐสมาชิกกับเลขาธิการอาเซียนเรียบร้อยแล้ว
ด้าน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกสนช.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรหมแดน รวมถึงการใช้ระบบโลจิสติกส์ในการข้ามพรหมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในพันธกรณีส่วนใหญ่ระบุไว้ว่าต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐสมาชิก ดังนั้น คำว่ารัฐสมาชิกต้องมีความพร้อมที่สำคัญประเทศไทยต้องมีกฎหมายรับรองเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ด้วยคะแนนเสียง 170 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง.- สำนักข่าวไทย
