กรุงเทพฯ 7 พ.ย.- สถาบันยานยนต์จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2562-2566 หวังรักษาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไม่ให้ตกเทรนความต้องการยานยนต์แห่งอนาคต
สถาบันยานยนต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “มองอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ฉบับใหม่ ปี พ.ศ. 2562-2566
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวเปิดการประชุมว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพีประเทศ การจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งแผนฉบับนี้ สถาบันยานยนต์ มีกำหนดจัดทำเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ซึ่งแผนที่จัดทำขึ้นใหม่นี้ สศอ. ต้องการให้เป็นแผนที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน เพราะหากไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงบริบทโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว จะมีผลทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องหายไป เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอุตสาหกรรมการผลิตจอทีวีจอแก้วหรือจอแบบ CRT ในประเทศไทยที่ขณะนี้ไม่มีการผลิตอีกต่อไป
แผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ใหม่ จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ให้สามารถปรับตัวสอดรับกับบริบทใหม่ทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า และก้าวทันกับบริบทพฤติกรรมของคนครุ่นใหม่ ที่ในอาคตข้างหน้า มีแนวโน้มว่า ไม่ต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์อีกต่อไป การใช้รถยนต์ในอนาคต จะเป็นอยู่ในรูปแบบของการแชร์รถยนต์ร่วมกันโดยผู้ใช้อาจไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์เลยก็ได้
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะนำแผนแม่บทที่จะได้รับจากสถาบันยานยนต์ไปพิจารณาจัดทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต่อไป โดยจะเน้นให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าให้มีการผลิตเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ ระบบไฟฟ้าในตัวรถยนต์เช่น ระบบจัดการพลังงานแบตเตอรี่ และบบควบคุมการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าหรือ DCU ระบบชาร์ทไฟรถ เป็นต้น ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และมาตรการภาษีโดยกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม การผลิตยานยนต์แห่งอนาคตจะเกิดขึ้น จะเลือกเฉพาะที่มีความต้องการมากเพียงพอทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และโดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยจะต้องรักษาระดับการผลิตรถยนต์แต่ละปีให้คงระดับไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคันต่อปี
ส่วนการต่อยอดรถยนต์อีโคคาร์ไปสู่การเป็น ”อีโคอีวี” นั้น นายณัฐพล กล่าวว่า สศอ.จะหารือกับกรมสรรพสามิตในภาพรวมของการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในการพัฒนาสู่ยานยนต์แห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า ตามแผนพัฒนา 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยยังมุ่งส่งเสริมต่อยอดการปรับเปลี่ยนอีโคคาร์ไปสู่การผลิตเป็น“อีโคอีวี”ต่อไป
นายณัฐพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ขณะนี้ ด้านการส่งออกเผชิญบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การส่งออกมีอุปสรรค เช่น เวียดนาม ออกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ด้วยการตรวจอย่างเข้มงวดทุก ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกยอดส่งรถไทยไปเวียดนามต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 27 และพลาดเป้าหมายที่ค่ายรถยนต์ตั้งใจจะส่งออกไปถึงร้อยละ 75 ขณะที่มาเลเซีย เริ่มออกมาตรการจำกัดโควตาการนำเข้ารถยนต์จากประเทศในอาเซียนด้วยกัน รวมถึงบริบทเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป-สำนักข่าวไทย