กรุงเทพฯ 5 พ.ย. – กรมประมงพร้อมผลักดันปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ส่งเรื่องให้ คกก.เอกลักษณ์ชาติแล้ว ระบุตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างด้วยตนเอง มั่นใจครั้งนี้ครบถ้วน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างมีภารกิจอยู่ต่างประเทศ โดยยืนยันว่า ตนเองให้ความสำคัญพร้อมผลักดันเต็มที่ให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยได้ลงนามหนังสือข้อเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เพื่อส่งคณะกรรมการส่งเสริมเอกลักษณ์ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเดินทางกลับจากการประชุมที่บาหลีได้ลงนามหนังสือทันที เพราะต้องการดูข้อมูลทั้งหมดด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รวบรวมข้อมูลได้ครบรอบด้านจริง ๆ หากคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรมประมงพร้อมจะส่งให้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมประมงพยายามประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างแม่นยำที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ยกระดับอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความสามารถในการเพาะเลี้ยงผสมพันธุ์ปลากัด กระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก
“ขั้นตอนระหว่างนี้ต้องรอคณะกรรมการส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติพิจารณาข้อมูลทั้งเก่าและใหม่ที่กรมประมงส่งไป ซึ่งครั้งนี้มีความสมบูรณ์ครบรอบด้านเต็มที่สุด ในเรื่องการเสนอปลากัดไทยที่วิวัฒนาการมาแต่โบราณชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าเป็นปลาประจำถิ่นของไทย จากบันทึกในอนุกรรมวิธาน พบปลากัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีที่สุดทั่วโลกให้การยอมรับและจะไม่มีประเทศใดมาโต้แย้งสิทธิ์ได้” นายอดิศร กล่าว
ด้านนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กรมประมงเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ มีความเห็นอย่างไร ก็สามารถเสนอ ครม.ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากเสนอให้ ครม.รับทราบแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560
“ผลักดันเต็มที่และไม่จำเป็นต้องไปสั่งการอะไรเพิ่ม เนื่องจากอธิบดีกรมประมงรู้หน้าที่ดี ขณะนี้ได้รับรายงานว่าอธิบดีลงนามส่งหนังสือเพื่อเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติให้แก่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติแล้ว อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการฯ พิจารณาหนังสือที่ส่งไป จากนั้นจะเป็นขั้นตอนที่กรมประมงจะไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ” นายกฤษฏา กล่าว.-สำนักข่าวไทย