กทม. 29 ต.ค.- เปิดเส้นทางธุรกิจของ “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” หนึ่งในอภิมหาเศรษฐีไทย ที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ข้างสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม ที่ประเทศอังกฤษ
เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย จนนิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับให้นายวิชัย เป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศ โดยมีทรัพย์สินทั้งหมด 5,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 171,000 ล้านบาท ในการจัดอันดับ 50 อภิมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2561
อาณาจักรที่สำคัญ คือ คิง พาวเวอร์ โดยนายวิชัย สร้างคิง เพาเวอร์ ในปี 2532 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว เปิดร้านค้าปลอดภาษีและอากร “ดิวตี้ฟรี” แห่งแรกในไทย ที่อาคารมหาทุน และได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2549 รวมทั้ง สนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นเวลา 14 ปี ซึ่งจะหมดอายุสัญญาในอีก 2 ปีข้างหน้า คือวันที่ 27 กันยายน 2563 และสร้าง “คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์” ที่ซอยรางน้ำ และคิง เพาเวอร์ พัทยา คอมเพล็กซ์ โรงแรมพลูแมน และลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำโครงการมหานคร ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดในกรุงเทพฯ
แต่ธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงมาก คือสัมปทานดิวตี้ฟรี สร้างรายได้ให้กลุ่ม คิง เพาเวอร์ ปีละกว่า 30,000 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 33,034 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 32,680 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 35,633 ล้านบาท
แต่กำไรสุทธิเหลือไม่ถึง 10 % ประมาณพันกว่าล้านบาทต่อปี
กำไรสุทธิปี 2558 อยู่ที่ 2,984 ล้านบาท
ปี 2559 กำไร 1,636 ล้านบาท
และปี 2560 อยู่ที่ 1,838 ล้าน
การบริหารดิวตี้ฟรี ทางคิงเพาเวอร์ ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งในสัญญา คิงเพาเวอร์ต้องจ่ายขั้นต่ำปีละ 15% ของยอดขาย และ ขยับเพิ่มขึ้นทุก 1% จนถึงปีที่ 10 เป็นต้นไป จะจ่ายขั้นต่ำปีละ 20%
นอกจากนี้คิง เพาเวอร์ ยังใช้พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็น PiCK UP Counter เพื่อส่งมอบสินค้าจากร้านดิวตี้ฟรี ที่ผู้โดยสารซื้อจากดิวตี้ฟรีในเมือง เพียงรายเดียว ซึ่งรายได้จากการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง สูงถึง 50,000 ล้านบาท กำไรกว่า 4,000 ล้านบาท มากกว่ากำไรจากสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สุวรรรณภูมิ
อีกประเด็นที่ถูกจับตามอง คือการเสียชีวิตของเจ้าสัววิชัย แบบกะทันหันจะมีผลต่อการเจ้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี ในสัญญาใหม่ ซึ่งกำลังใกล้เข้ามาแล้วหรือไม่ ตอนนี้ ทอท. กำลังกำหนดกรอบและรายละเอียดทีโออาร์ แต่ทีโออาร์ก็เลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบัน ทอท. อยู่ระหว่างศึกษาข้อดีและข้อเสียของรูปแบบการบริหาร และประเมินขนาดพื้นที่ดิวตี้ฟรี ในเทอร์มินัล 2 ควบคู่ไปด้วย แม้ว่าทีโออาร์จะยังไม่ประกาศออกมา แต่การประมูลดิวตี้ฟรีก็แข่งขันกันดุเดือด ทั้งจากกลุ่มทุนในประเทศ คือ กลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ บางกอกแอร์เวย์ส และคิง เพาเวอร์ เจ้าเดิม รวมทั้งทุนจากเกาหลีใต้ ล็อตเต้ยักษ์ดิวตี้ฟรี ก็สนใจลงชิงประมูลดิวตี้ฟรีเช่นกัน
ขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันในหลายเรื่อง ทั้งการเปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการดิวตี้ ฟรี หลายราย ไม่ใช่การผูกขาดรายเดียวบริการ PiCK UP Counter การท่าอากาศยาน ควรเป็นผู้เข้ามาบริหารเอง สัดส่วนการแบ่งรายได้ให้ ทอท. รวมทั้ง สัญญาสัมปทานควรยาวถึง 10 ปี หรือเปล่า ซึ่ง ทอท. บอกว่าจะประมูลและหาผู้ชนะให้ได้ภายในปีนี้.-สำนักข่าวไทย