สิงคโปร์ 29 ต.ค. – กระทรวงพลังงานโชว์ 21 ผลงานผู้ประกอบการไทยเข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards 2018 ที่สิงคโปร์ รักษาแชมป์อันดับหนึ่ง 9 ปีซ้อน ตอกย้ำความสำเร็จนโยบายขับเคลื่อนพลังงานไทย พร้อมรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนปี 2562 ย้ำจุดยืนเดินหน้าส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ชูจุดแข็งศักยภาพพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ASEAN Ministers on Energy Meetings – AMEM ครั้งที่ 36 ที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า ปีนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยอีกครั้งในเวที ASEAN Energy Awards 2018 ที่มีการมอบรางวัลรวม 63 รางวัล โดยผู้ประกอบการไทยสามารถคว้ารางวัลด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ถึง 21 รางวัล จากการส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 25 ผลงาน โดยมีรางวัลที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาและสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสะท้อนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและภาคเอกชนไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
“กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนการส่งเสริมพลังงานทดแทนภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และการลดใช้พลังงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2558-2579) โดยไทยมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การพัฒนาและวิจัยเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงพลังงาน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ความมุ่งมั่นดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพเอกชนไทยในเวที ASEAN Energy Awards ที่มีการจัดประกวดมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ซึ่งไทยได้ส่งผลงานเข้าประกวดมาตั้งแต่ปี 2543 และได้รับรางวัลบนเวทีอาเซียนมากที่สุดถึง 188 รางวัล รองลงมา อินโดนีเซีย 97 รางวัล และสิงคโปร์ 86 รางวัล ซึ่งปีนี้ไทยได้รับรางวัลอันดับสูงสุดเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน” นายศิริ กล่าว
สำหรับการประกวด ASEAN Energy Awards 2018 ปีนี้ครอบคลุม 2 หมวดหลัก คือ ด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.การบริหารจัดการพลังงานดีเด่น 2.อาคารอนุรักษ์พลังงานดีเด่น 3.อาคารเขียวดีเด่น และ 4.โครงการพลังงานหมุนเวียนดีเด่น
นอกจากนี้ ในปี 2562 ประเทศไทยได้รับมอบเป็นประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจนนำมาสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตเอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง การผลิตไบโอดีเซล จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และด้านอนุรักษ์พลังงาน เช่น การจัดการพลังงาน การกำหนดมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน การให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน
“อาเซียนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง พลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความยั่งยืน พลังงานทดแทนจึงเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งก้าวไปเพื่อตอบโจทย์ของความมั่นคงและมีความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ศักยภาพของอาเซียนที่สมาชิกมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ จึงมีศักยภาพต่อการเอื้อให้เกิดการพัฒนาพลังงานดแทนและแลกเปลี่ยนระบบพลังงานได้ในอนาคต” นายศิริ กล่าว
สำหรับช่วงเย็นวันนี้ (29 ต.ค.) จะมีพิธีมอบรางวัลโดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ในเวที ASEAN Energy Awards 2018 รวมทั้งสิ้น 21 รางวัล แบ่งเป็นด้านพลังงานทดแทน 13 ผลงาน แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 6 ผลงาน 1.โรงไฟฟ้าชีวมวล ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ : บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(ประเภท On-Grid : National Grid) 2. โรงไฟฟ้าชีวมวล พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ : บริษัท พิจิตรไบโอเพาเวอร์ จำกัด (ประเภท On-Grid : National Grid) 3. โครงการผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนเชื้อเพลิง LPG : บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด (ประเภท Off-Grid : Thermal) 4. โรงงานเอทานอลมิตรผล ด่านช้าง : บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สุพรรณบุรี) (ประเภท Biofuel) 5. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม : บริษัท สงวนวงษ์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (ประเภท Cogeneration) 6. ระบบกำจัดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสะอาดสำหรับเกษตรกรรายย่อยภายใต้แนวคิดธรรมชาติช่วยธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (ประเภท Special Submission)
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 4 ผลงาน 1. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านแม่กลองน้อย กำลังผลิต 20 kW หมู่บ้านแม่กลองน้อย ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก(ประเภท On-Grid : Local Grid) 2. โครงการนำระบบโซล่าร์ออฟกริดไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจห้องเย็น : บริษัท สินชัยห้องเย็น จำกัด (ประเภท Off-Grid : Power) 3. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด : บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (ประเภท Cogeneration) 4. โรงงานผลิตเอทานอล : บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด (ประเภท Biofuel) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 ผลงาน 1. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านหมากลาง กำลังผลิต 25 kW หมู่บ้านหมากลาง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ประเภท On-Grid : Local Grid) 2. โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย : บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (ประเภท Off-Grid : Power) 3. โครงการบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ทดแทน LPG สำหรับหุงต้ม ในครัวเรือนขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล : องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล (ประเภท Off-Grid : Thermal)
ด้านอนุรักษ์พลังงาน 8 ผลงาน แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ 4 ผลงาน 1. บริษัท ริโก้ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ชนะเลิศ (Energy Management: Large Industry) 2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด (โรงงาน 2) (Energy Management: Small and Medium Industry) 3. โรงแรมอันดามัน คาเนเซีย รีสอร์ทแอนด์สปา : บริษัท ภูเก็ตคาเนเซีย จำกัด (Energy Management: Small and Medium Building) 4. บริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด (Energy Management: Special Submission Industry) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 ผลงาน 1. โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา : สภากาชาดไทย (Energy Management: Large Building) 2. อาคาร KBTG : ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (Green Building) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 2 ผลงาน 1. โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี : มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย (Energy Management: Large Building) และ 2. อาคาร ซี.พี.ทาวเวอร์ 3 (พญาไท) : บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) (Energy Efficiency in Building: Retrofitted Building) . – สำนักข่าวไทย