กรุงเทพฯ 12 ก.ย.- กทม.ร่วมกับ ก.สาธารณสุข เฝ้าระวังไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในพื้นที่ กทม. ยังไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติมจาก 22 ราย พบ 3 ราย เดินทางออกต่างจังหวัด ประสานศูนย์บริการสาธารณสุขทุกจังหวัดดูแลใกล้ชิด
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และ นพ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมแถลงข่าวการแพร่ระบาดและสถานการณ์ไวรัสซิกาใน กทม.ว่า จากการสำรวจเเละเฝ้าระวังตั้งแต่ช่วงวันที่ 1-7 กันยายน 2559 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 21 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย เป็น 22 ราย ในพื้นที่เขตสาทร ซึ่งสำนักอนามัย กทม.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังและค้นหาผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย และพื้นที่ในรัศมี 100 เมตร จากผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด รวมถึงการกำจัดยุงลาย เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มเติม จนล่าสุด กทม.ไม่ได้รับแจ้งผู้ป่วยเพิ่มเติม แต่ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่จะติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าเด็กคลอด ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้ป่วย 3 ราย ที่อยู่ในเขตสาทร มีการเดินทางไปต่างจังหวัด จึงประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขจังหวัดให้ช่วยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ขอเปิดเผยว่าอยู่เขตใดบ้าง เนื่องจากขณะนี้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบในเรื่องจิตใจ อยากวอนสื่อในการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วย เพราะอาจมีเรื่องการละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย ส่วนรายอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อจากห้องปฎิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกกว่า 30 ราย คาดผลจะออกเร็วๆ นี้ หากพบว่ามีการติดเชื้อก็จะดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม.เคยสำรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกามาแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือนสิงหาคม จำนวน 7 ราย ทุกรายหายเป็นปกติแล้ว และยังไม่ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน
ด้าน นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัยได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยทุกคนในการดูแลตนเองและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ จากการที่ยุงลายมากัดตนและอาจนำเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกและช่วงที่มีไข้ และเชื้อยังอยู่ในกระแสเลือด จึงต้องระมัดระวัง แต่คงไม่ห้ามออกนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีการเฝ้าระวังตามเกณฑ์ของ สธ. คือ 28 วัน หากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ ถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ โดยช่วงที่พบผู้ป่วยซิกาที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ในเขตสาทร จากการสอบสวนโรคพบว่า มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก แต่หลังเข้าไปควบคุมโรคก็พบว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายลดลง ส่วนโอกาสติดต่อจากเพศสัมพันธ์ มีรายงานว่าอาจเป็นไปได้ ทางที่ดีช่วงมีไข้อย่ามีเพศสัมพันธ์ดีกว่า
ขณะที่ นพ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า จากการติดตามโรคไวรัสซิกาทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปี-31 ส.ค.59 ประเทศไทยพบผู้ป่วยสะสมที่ติดเชื้อแล้ว 97 ราย จากทั่วประเทศ อยู่ในภาวะสามารถควบคุมได้ และปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อซิกาใน 12 อำเภอ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างควบคุมโรค ยืนยันว่า โรคซิกาไม่ได้รุนแรงถึงขั้นผู้ป่วยเสียชีวิต แต่จะมีอาการไข้ มีผดผื่น ปวดตามข้อ ตาแดง ซึ่งต้องเฝ้าระวังใน 4 กลุ่ม คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กทารกเพิ่งคลอด ผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ และผู้มีไข้ ปวดข้อ มีผื่น ตาแดง ต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพราะจะเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคซิกา ไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา ซึ่งประชาชนสามารถสอบถามข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสโรคซิกา ได้ที่กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม. โทร. 02-2458106 ในวันและเวลาราชการ.-สำนักข่าวไทย