แพทย์จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมรักษามะเร็ง ปรับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็ง

รพ.จุฬาฯ 24 ต.ค.- แพทย์จุฬาฯ สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง หลักการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็ง  


ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคมะเร็ง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งแซงหน้าโรคหัวใจมานานกว่า 10 ปี ไทยจำเป็นที่จะต้องมีแผนระดับชาติในการต่อสู้กับโรคมะเร็งอย่างจริงจัง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯและ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีศูนย์มะเร็งครบวงจรและศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆขึ้น และยังได้ร่วมเป็นสถาบันพันธมิตร กับสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกจำนวนมากเพื่อสร้างผลงานวิจัยนวัตกรรมที่โดดเด่นสามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง 

โครงการนวัตกรรมทางด้านภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับงบประมาณจากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย โดยเน้นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีงบสนับสนุนต่อเนื่อง ล่าสุดจุฬาฯได้อนุมัติงบประมาณ 160 ล้านบาท/3 ปี เพื่อสนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มีเป้าหมายในการผลิตต้นแบบของการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อผลิตยาต้องอาศัยทุนจำนวนมหาศาลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คณะแพทยศาสตร์ได้ตั้งบัญชีเพื่อขอรับการสนับสนุนเพื่อการวิจัยมาแล้วหลายปีอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้นับเป็นประวัติการณ์ที่ภาคประชาชนมีความสนใจสนับสนุนงานวิจัยอย่างล้นหลาม อยากเน้นให้ทุกคนเข้าใจว่างานนี้ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่เราจะต้องทำต่อเนื่องและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของประชาชนคนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมส่งกำลังใจและร่วมบริจาคเข้ามาที่ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬา 


รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด แม้จะสามารถรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดอย่างมีประสิทธิภาพและราคาไม่สูงมาก แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งได้แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายเซลล์ปกติของร่างกายบางอวัยวะ ต่อมาพัฒนาการรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ซึ่งออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งชนิดที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เป็นเป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยาด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูง ตอบสนองได้นานกว่า และมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่สูงเฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่ 20,000 ถึง 150,000 บาท และเกิดการดื้อยาในที่สุด 

ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า แท้จริงแล้วร่างกายของผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่ง มีการสร้างภูมิต้านทานมะเร็งด้วยเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T cells) ได้ แต่เซลล์มะเร็งมีการส่งสัญญาณต่อต้านการทำงานของทีเซลล์ด้วยกลไกหลายๆ อย่าง จากความรู้ดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีการพัฒนาการปรับระบบภูมิต้านทานมะเร็งด้วยการใช้ยาหรือพัฒนาเซลล์เม็ดเลือดขาวต้านมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมาต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยามุ้งเป้าและยาเคมีบำบัด และผู้ป่วยที่ตอบสนองมักจะตอบสนองได้นาน แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่ได้ผลกับมะเร็งทุกชนิด ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย ปัจจุบันยาดังกล่าวมีราคาจำหน่ายที่แพงมาก โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 150,000 ถึง 300,000 บาทต่อการรักษา 1 ครั้ง และอาจต้องให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี ทำให้การเข้าถึงยากลุ่มนี้สำหรับประชาชนทั่วไปเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย 

นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราต้องสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งขึ้นเองในประเทศไทยเนื่องจากขณะนี้เราต้องนำเข้ายาแอนติบอดีรักษามะเร็งจากต่างประเทศ 100% ดังนั้นยากลุ่มนี้จึงมีราคาแพงมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสูงกว่า 8 ล้านบาทต่อราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง เบิกไม่ได้ การผลิตยาใช้เองในประเทศจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาให้ต่ำกว่ารายละ 1 ล้านบาท สามารถเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงยาแอนติบอดีรักษามะเร็งที่มีราคาถูกลงได้ นอกจากนี้การสร้างยาแอนติบอดีรักษามะเร็งจะสร้างผลดีต่อประเทศโดยรวมในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างประเทศ 2)  สร้างอุตสาหกรรม Biologics ที่มีศักยภาพสูง 3) ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยเป็นมะเร็ง  


ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยสามารถผลิตยาแอนติบอดีต้นแบบได้แล้วหนึ่งตัว จากผลในหลอดทดลองพบว่ายาต้นแบบของเรามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาจากต่างประเทศ ซึ่งนับได้ว่าเราประสบความสำเร็จในเฟสแรก ขณะนี้เรากำลังเร่งผลิตยาต้นแบบเพิ่มอีกหลายตัวเพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จและกำลังก้าวเข้าสู่เฟสที่2ซึ่งเป็นการพัฒนายาแอนติบอดีต้นแบบที่ผลิตจากเซลล์หนูทดลองให้มีความคล้ายคลึงกับแอนติบอดีของมนุษย์ ในเฟสที่สองนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าการพัฒนาแอนติบอดีในเฟสที่สองประสบความสำเร็จ ในเฟสที่สามจะเป็นการผลิตยาในโรงงานเพื่อให้ได้ยาในปริมาณมากซึ่งจะใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 18 เดือนและต้องการเงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท หลังจากนั้นในเฟสที่สี่จะเป็นการทดสอบยาในสัตว์ทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพและผลข้างเคียงซึ่งต้องใช้เวลาทดสอบประมาณสองปีและต้องการเงินลงทุนประมาณ 100 ถึง 200 ล้านบาท ในขั้นสุดท้ายเฟสที่ห้าจะเป็นการทดลองในมนุษย์ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4-5 ปี และต้องการเงินลงทุนประมาณ 1000 ล้านบาท  .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ครบ 72 ชม. ตึก สตง.ถล่ม ไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิต

ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุตึก สตง.พังถล่ม แม้เวลาผ่านมาครบ 72 ชั่วโมงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่้ทุกฝ่ายยังไม่ละความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิต หวังมีปาฏิหาริย์

นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย ลั่นยังไม่ได้ SMS แผ่นดินไหว

นายกฯ ลั่น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับ SMS เตือนแผ่นดินไหว สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือน “กรมอุตุฯ ไป ปภ. เข้าเครือข่ายมือถือ” ไม่ต้องผ่าน กสทช. ระหว่าง รอ Cell Broadcast เต็มระบบ ก.ค.นี้