กทม. 22 ต.ค. – ร่างกฎหมายเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุนกับรัฐในการผลิตและจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีมาตรการยกเว้นภาษี ทำให้เอกชนหลายรายสนใจ เนื่องจากภาษีนำเข้าเหล็กในการผลิตสูงร้อยละ 60 แต่ต้องการความมั่นใจว่าหน่วยงานความมั่นคงพร้อมสนับสนุนการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ ติดตามในรายงานพิเศษชุด เดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ วันนี้นำเสนอเป็นตอนที่ 2
ช่างฝีมือกำลังตรวจเช็กซ่อมบำรุงยานยนต์หุ้มเกราะที่ผลิตให้หน่วยงานความมั่นคงไทย อย่างกองทัพไทย ดีเอสไอ และกรมราชทัณฑ์ 50 ปีแล้วที่โรงงานเอกชนแห่งนี้ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ผู้บริหารเล่าว่า เริ่มจากซ่อมรถจี๊ปทหาร รถบรรทุกทหาร ไปจนถึงรถหุ้มเกราะทั้งแบบสายพานและล้อยาง ที่ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ รถนำเข้าเหล่านี้มีส่วนที่ไม่เหมาะกับสภาพใช้ในไทย จากที่ผลิตเพียงชิ้นส่วน ปี 2556 จึงออกแบบและสร้างรถเกราะล้อยางขึ้นมาเอง เป็นที่ต้องการของกองทัพและหน่วยงานอื่น รวมทั้งต่างประเทศ แต่พบปัญหาเมื่อวัตถุดิบสำคัญ คือ เหล็กที่ใช้ผลิตเป็นเหล็กพิเศษ ไม่มีในไทย ต้องนำเข้า แต่มีการใช้มาตรการปกป้อง เมื่อรวมกับภาษีอื่นต้องเสียภาษีที่ 60.2% ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้ารถทั้งคันกลับไม่ต้องเสียภาษี
เอกชนอีกรายซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อเกราะแข็งรายแรกของไทย ราคาตัวละ 30,000 บาท ถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ 5 เท่า ต่อมาพัฒนาใช้เซรามิกเพื่อทำให้น้ำหนักเบาขึ้น แต่ทนนานเป็นร้อยปี ราคาถูกลงไปอีก เหลือ 25,000 บาท กองทัพบกสั่งผลิตใช้ประจำการ 700 ตัว และยังผลิตเสื้อเกราะ เครื่องป้องกันกระสุนกันกระแทกให้อีกหลายหน่วยงาน แม้ผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้า แต่การผลิตต้องพบปัญหาเมื่อมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง
แม้กำลังจะมีกฎหมายให้รัฐผลิตและจำหน่ายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ทันในปีนี้ และเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุน แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการเห็นตรงกันคือ จำเป็นต้องให้หน่วยงานความมั่นคงเห็นความสำคัญเลือกใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตได้เองในประเทศ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศของไทย
อดีตข้าราชการกรรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งเคยเป็นช่างผลิตอาวุธมานาน 17 ปี ก่อนลาออกในปี 2533 บอกว่า กรมสรรพาวุธเคยมีโรงเรียนฝึกช่าง จบออกมาก็ทำงานในนั้นเลย ปัจจุบันจะไม่มีโรงเรียนนี้แล้ว แต่เชื่อว่าช่างที่มีฝีมือยังคงมีอยู่
ปัจจุบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในไทยมีความก้าวหน้าทั้งด้านการวิจัย จากนักวิจัยของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ซึ่งมีการนำไปต่อยอดการผลิตให้กับหน่วยงานความมั่นคง ที่ต้องมีใช้งบแต่ละครั้งไม่ใช่น้อยๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้เกิดโอกาสการขัดกันของผลประโยชน์. – สำนักข่าวไทย