กรุงเทพฯ 14 ต.ค.- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ สัปดาห์นี้เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่าเล็กน้อยปิดที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยลดลงปิดที่ระดับที่ 1,696.16 จุด ลดลง 1.42% จากสัปดาห์ก่อน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้(8-12 ต.ค.)ว่า เงินบาทฟื้นตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามทิศทางค่าเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ในช่วงดังกล่าว เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี CPI และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ เงินหยวนที่กลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าในช่วงต้นสัปดาห์ ก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินในภูมิภาคและเงินบาทด้วยเช่นกัน ในวันศุกร์ (12 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.75 จากระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ต.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน รายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด และบันทึกการประชุมเฟด (25-26 ก.ย.) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสอง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ย. ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีภาวะตลาดบ้านเดือนต.ค. รวมถึงข้อมูลยอดถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของต่างชาติเดือนส.ค. นอกจากนี้ ตลาดในประเทศอาจรอติดตามผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของบจ. และสัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
ส่วนสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้(8-12 ต.ค.)ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังลดลง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,696.16 จุด ลดลง 1.42% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 1.87% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 56,312.69 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 3.06% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 435.62 จุด ตลาดหุ้นไทยร่วงลงในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น และจากการปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกของ IMF จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงไปอีกครั้ง ตามทิศทางความผันผวนของตลาดหุ้นต่างประเทศ และแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,710 และ 1,725 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนต.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น -สำนักข่าวไทย
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (15-19 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,670 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,710 และ 1,725 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. ดัชนีการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียเดือนต.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2561 ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของญี่ปุ่น-สำนักข่าวไทย