นนทบุรี 9 ต.ค. – อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมะพร้าวนำเข้าว่านำไปใช้ถูกต้องตามที่แจ้งหรือไม่ หากพบไม่ตรงที่แจ้งใช้กฎหมายเล่นงาน พร้อมชี้ปี 60 ยอดนำเข้าพุ่งจากเหตุไทยเกิดโรคหนอนหัวดำระบาด แต่ปีนี้ปกติทำให้ตัวเลขนำเข้าลดลงทันที ส่วนปัญหาราคาตกต่ำจากผลิตมาก
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว โดยขอให้ผู้นำเข้ารายงานผลการใช้มะพร้าวว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ในการขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ เพื่อติดตามมะพร้าวนำเข้าถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่แจ้งไว้จริง ไม่ใช่ถูกนำไปขายต่อในประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าส่วนใหญ่รายงานผลเข้ามาแล้วคงเหลืออีกประมาณ 10 ราย ที่ไม่ได้รายงานผลการนำเข้า โดยกรมฯ จะมีมาตรการดำเนินการต่อไป เช่น การไม่ออกหนังสือรับรองฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ ยืนยันว่าการนำเข้าไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ราคามะพร้าวตกต่ำ เพราะสถิตินำเข้าในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศปริมาณ 195,303 ตัน ลดลงร้อยละ 27.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 268,672 ตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามะพร้าวในประเทศมีเพียงพอ ส่วนตัวเลขปี 2560 ที่มีการนำเข้าเพิ่มถึง 420,971 ตัน เพิ่มขึ้น 115 เท่าจากปี 2559 ที่มีการนำเข้า 3,676 ตัน เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยจากข้อมูลกรมศุลกากรปี 2559 มีการนำเข้ารวม 171,720 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นเพียง 1.68 เท่า ทั้งนี้ การนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการระบาดของหนอนหัวดำในมะพร้าว ทำให้มะพร้าวเสียหายผลผลิตลดลง จึงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ปี 2561 โรคหนอนหัวดำแก้ไขได้ มะพร้าวในประเทศมีผลผลิตออกมามากการนำเข้าก็ลดลง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลผลิตภายในประเทศมีมาก เพราะไทยแก้ปัญหาโรคหนอนหัวดำได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาการลักลอบนำเข้า ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเข้าไปดูแลและเข้มงวดตรวจสอบการนำเข้าแล้ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำเป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชที่จะมีการประชุมในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ของปัญหาทั้งหมดก่อนออกมาตรการช่วยเหลือแต่ละด้าน ซึ่งกรมฯ เป็นเพียงแค่หน่วยงานปฏิบัติและกรมฯ ดูแลการนำเข้าตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก ( WTO) และ AFTA และได้มีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าไว้แล้ว โดยภายใต้ WTO ผูกพันเปิดตลาดในโควตาไว้ 2,317 ตันต่อปี ภาษีร้อยละ 20 ให้นำเข้าได้ช่วงมกราคม-พฤษภาคม และพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ถ้านอกโควตาเก็บภาษีร้อยละ 54 ให้นำเข้าได้ทั้งปีไม่จำกัดปริมาณ และภายใต้ AFTA ภาษีร้อยละ 0 กำหนดเวลานำเข้าช่วงเดียวกับ WTO และไม่จำกัดปริมาณเช่นเดียวกัน ส่วนการจะเพิ่มมาตรการนอกเหนือจากนี้ เช่น การจำกัดระยะเวลานำเข้า คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ก็ต้องดูว่าผิดเงื่อนไขของ WTO หรือไม่ เพราะอาจจะถูกฟ้องร้องได้
ส่วนมาตรการอื่น ๆ เช่น การกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวตามสัดส่วนการนำเข้า การใช้มาตรการสุขอนามัยพืช ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ต้องดำเนินการ ขณะที่การใช้มาตรการเซฟการ์ด เพื่อปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องยื่นเรื่องเข้ามาให้กรมฯ พิจารณา ไม่ใช่อยู่ดี ๆ กรมฯ จะใช้มาตรการได้เลย ซึ่งมีหลักการเดียวกันกับสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าต่อไป.-สำนักข่าวไทย