เชียงใหม่ 5 ต.ค. – นักวิจัย ม.เชียงใหม่ ประสบความสำเร็จพัฒนาข้าวก่ำล้านนา จนได้ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่ “ก่ำหอม มช.” กลิ่นหอม มีธาตุเหล็ก สังกะสี และแอนโทไซยานินสูง ต้านอนุมูลอิสระ
รศ.ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัย อาจารย์สาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาข้าวก่ำล้านนาสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการทดลองปรับปรุงพันธุ์ โดยใช้วิธีคัดเลือกพันธุ์แท้ จนได้ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า “ก่ำหอม มช.” กลิ่นหอม มีธาตุเหล็ก สังกะสี และแอนโทไซยานินสูง มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งกระเพาะ ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีแผนการใช้เทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต่อไป เพื่อให้ได้ข้าวก่ำคุณภาพสูง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค คาดว่าจะพร้อมออกสู่ตลาดได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ภาควิชาพืชศาสตร์และปฐพีศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มช. โดย ดร.ปณิตา บุญสิทธิ์ และ รศ.ดร.ดำเนิน กาละดี ร่วมกันพัฒนาข้าวอีกสายพันธุ์หนึ่ง ชื่อว่า “ก่ำเจ้า มช.107” โดยนำข้าวก่ำสายพันธุ์ “ก่ำดอยสะเก็ด” (พันธุ์พ่อ) มาผสมกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (พันธุ์แม่) ใช้วิธีการปลูกคัดเลือกข้าวลูกผสมแบบสืบตระกูล ควบคู่กับการตรวจสอบความหอม การประเมินความสามารถในการปรับตัวและเสถียรภาพ จนเกิดเป็นข้าวเจ้าก่ำสายพันธุ์ดีที่สามารถปลูกในเชิงเกษตรกรรมได้ มีลำต้นสูงประมาณ 143 เซนติเมตร แต่ให้ผลผลิตมากถึง 680 กิโลกรัม/ไร่ (โดยประมาณ) มีลักษณะเด่นโดยมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำสนิท ไม่มีสีอื่นปน และเมื่อหุงสุกหรือเย็นแล้วเม็ดข้าวยังคงนุ่ม ทั้งนี้ ข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวได้จดทะเบียนขึ้นเป็นพันธุ์พืชใหม่เมื่อปลายปี 2560 และพร้อมออกสู่ตลาดแล้ว
ตลอดการพัฒนาข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่ ได้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนากระบวนการผลิตข้าว คุณภาพพิเศษของเชียงใหม่ ผ่านโครงการวิจัยร่วมเอกชน และโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาและยกระดับข้าวไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวก่ำไทยสู่ระดับเศรษฐกิจ. – สำนักข่าวไทย