ทำเนียบรัฐบาล 4 ต.ค.- คณะกรรมการอีอีซีอนุมัติ 4 โครงการลงทุนหลักเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้
อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้ว
รวมอนุมัต 5 โครงการหลักอีอีซีมูลค่ารวมกว่า 650,000 ล้านบาท
พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
แถลงผลการประชุมคณะ กรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า
หลังจากคณะกรรมการอีอีซี อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการหลักที่อยู่ใน EEC Project List ไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี วันนี้ (4 ต.ค.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติกรอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี
เพิ่มเติมอีก 4 โครงการที่เหลือ ทำให้ EEC Project List ครบทั้ง
5 โครงการ
สำหรับโครงการลงทุนที่อนุมัติในวันนี้ ประกอบด้วย
โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก:สนามบินอู่ตะเภา, โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา, โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 รวม 5 โครงการมูลค่าเงินลงทุนรวม 652,559 ล้านบาทโดยรัฐบาลลงทุนร้อยละ
32 รวม 209,916
ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32 ภาคเอกชนลงทุน 442,643
ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 63
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี
กล่าวว่า 4
โครงการที่คณะกรรมการอีอีซีเห็นชอบครั้งนี้ จะออกหนังสือชี้ชวนภายในเดือนตุลาคมนี้
หากพิจารณาในภาพรวมเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน อีอีซี ทั้งหมดจะมีมูลค่ารวมถึง 1.7 ล้านล้านบาท ภาครัฐลงทุนรวม 0.3
ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ภาคเอกชนลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ
82 ซึ่งภาครัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 99,600 ล้านบาท เอกชนลงทุนอุตสาหกรรมและอื่นๆ
รวม 947,841 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดโครงการ ดังนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
และเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา
เงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เงินลงทุน ประมาณ 114,047
ล้านบาทและโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมเงินลงทุนทั้งหมด
ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า ประมาณ 55,400 ล้านบาท
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซี
ยังรับทราบ แผนพัฒนาโครงการแผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระยะเวลา
5 ปี
ตามข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอีอีซีให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคประกอบด้วย
8 แผนงาน ระยะความเร่งด่วน ในการดำเนินงาน
ดังนี้ แผนงานที่ 1 การพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) และสถาบัน IoT แผนงานที่ 2
การพัฒนา Advanced
Big Data, Cloud and Data Center (ABCD) แผนงานที่ 3
การพัฒนาศูนย์กระจายพัสดุภัณฑ์อัตโนมัติ (Automated Postal Distribution Center) แผนงานที่ 4
IoT SMART City แผนงานที่ 5 การสร้างศูนย์ทดสอบ 5G และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นำร่อง
แผนงานที่ 6 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน IoT ในเขตอีอีซี แผนงานที่ 7
โครงสร้างพื้นฐาน ท่อร้อยสาย เคเบิลใยแก้วนำแสงและเสา (i-Pole) และแผนงานที่ 8 ASEAN Digital Hub. –สำนักข่าวไทย