นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี 2561 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการแรกของการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ (Agriculture Production Plan) รัฐบาลจึงต้องการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรเพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการ
ข้อห่วงใยของรัฐบาลคือ สถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำ โดยพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศมีประมาณ 70 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละ 32.63 ล้านตันข้าวเปลือก แต่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีเพียง 30.88 ล้านตันข้าวเปลือก จึงคงเหลือผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการปลูกพืชซึ่งยังขาดแคลนโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งความต้องการใช้มีปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ต้องพึ่งพาการนำเข้า ดังนั้นหากสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังซึ่งมีอยู่ 12.2 ล้านไร่ แล้วคัดเลือกพื้นที่ซึ่งมีสภาพดินเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดประมาณ 2 ล้านไร่ จะช่วยลดผลผลิตข้าวส่วนเกินลงไป ทำให้ราคาข้าวดีขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งให้กำไรประมาณ 3,690.34 บาทต่อไร่ ส่วนข้าวนาปรังได้กำไรไร่ละ 306.29 บาท
ทั้งนี้ได้ กำชับให้เกษตรอำเภอนำเรื่อง การเชิญชวนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทอแทนนาปรังเข้าประชุมชี้แจงที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นให้เกษตรจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการส่งคณะวิทยากรจัดการอบรมให้ความรู้ในการปลูกข้าวโพด การลดต้นทุน และการรักษาแปลงให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 286,678,000 บาทจากงบประมาณปี 2562 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสัมมนาเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ จัดเวทีรับสมัครเกษตรกร อบรมเกษตรกร โดยต้องกำหนดมาตรการจูงใจเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งรัฐสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและการเตรียมดินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งธ.ก.ส. คิดอัตราร้อยละ 4 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากเกษตรกรอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน ให้เกษตรกรกู้ได้ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย รัฐจะประสานเอกชนให้มารับซื้อข้าวโพดอาหารสัตว์ตามคุณภาพทในราคาไม่น้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
โดยราคารับซื้อข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8 บาท มีงบประมาณสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ ซึ่งจะได้รับเพิ่มเติมจากเงินชดเชยกรณีเกิดสาธารณภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังเพิ่มเติมอีกไร่ละ 1,500 บาท ในส่วนของการรวบรวมและรับซื้อผลผลิต รัฐสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร อาทิ สหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อม โดยธ.ก.ส. คิดอัตราร้อยละ 4 ต่อปี แต่เรียกเก็บสถาบันเกษตรกรร้อยละ 1 ต่อปี รัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี
สำหรับพื้นที่ในโครงการนั้นมี 33 จังหวัดได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโชทัย อุทัยธานี นครราชสีมา นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และสระแก้ว – สำนักข่าวไทย