โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 29 ก.ย. – โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนโรคเลือดและมะเร็งเด็ก หน่วยโลหิตวิทยา ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ และศิลปินนักแสดง ผู้ประกาศข่าว ร่วมจัดงานแถลงข่าว การจัดแสดงคอนเสิร์ต “ส่งต่อความหวัง พลังชีวิต เพื่อน้องโรคเลือดและมะเร็งเด็ก” และจัดเสวนาให้ความรู้สถานการณ์โรคเลือดในเด็กปัจจุบัน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้มุ่งมั่นที่จะผลิตผลงานวิชาการและให้บริการทางการแพทย์แก่เด็กอย่างรอบด้าน โดยมีภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อตั้งมายาวนานกว่า 70 ปี ได้สะสมประสบการณ์และพัฒนาด้านการรักษามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ระดับนานาชาติ และมีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน คือการผลิตกุมารแพทย์ที่มีศักยภาพ ด้วยองค์ความรู้เป็นสถาบันต้นแบบที่มีคุณธรรม และสร้างมาตรฐานเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางกุมารเวชศาสตร์ ทั้งในด้านงานบริการและงานวิจัยในระดับนานาชาติ และมีเป้าหมายคือการดูแลเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของชาติอย่างครบวงจร ทั้งด้านการป้องกันโรค การเสริมสร้างพัฒนาการและฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว และสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป
รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กล่าวว่า ในแต่ละปีมีเด็กในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเลือดและโรคมะเร็ง โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกง่าย ฮีโมฟีเลีย มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งสมอง ผู้ป่วยเหล่านี้หากได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะสามารถกลับไปมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับเด็กปกติได้
อย่างไรก็ตาม โรคส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งจำเป็นต้องอาศัยทีมบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ รวมทั้งได้รับยา เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และที่สำคัญ คือการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบัน สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้การดูแลรักษาผู้ปวยเด็กโรคเลือดและมะเร็งจำนวนมาก โดยมีผู้ป่วยใหม่ได้รับการวินิจฉัยปีละ 80 – 100 ราย ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงปานกลาง ถึงรุนแรงมาก จำเป็นต้องได้รับเลือดจากผู้บริจาคทุกๆ 3 – 4 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต ผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย จำเป็นต้องได้รับสารช่วยการแข็งตัวของเลือดทางหลอดเลือด ทุกสัปดาห์ตลอดชีวิต ผู้ปวยโรคมะเร็งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผ่าตัด และฉายแสงเป็นระยะเวลา 1- 3 ปีขึ้นกับชนิดของโรค ผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการรักษามาตรฐาน จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดซึ่งเป็นการรักษาที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง
ทั้งนี้ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งกองทุน “โรคเลือดและมะเร็งเด็ก จุฬาฯ” ขึ้น เพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ปวยเด็กโรคเลือดและมะเร็งที่ขาดแคลน สนับสนุนยาและการรักษาบางประเภทที่ไม่สามารถเบิกได้จากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงสนับสนุนค่าเดินทางในการมารับการรักษาและช่วยเหลือครอบครัวที่มีความขัดสนเพื่อให้สามารถมารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถไปโรงเรียนและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนได้มากขึ้น และช่วยลดความกังวลของผู้ปกครองอีกด้วย
นายกฤษณะพงศ์ พงศ์แสนยากร รองประธานกรรมการโครงการคอนเสิร์ต “ส่งต่อความหวัง พลังชีวิต เพื่อน้องโรคเลือดและมะเร็งเด็ก” กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจของสังคมต่อโรคเลือดและมะเร็งเด็ก และการระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมกับกลุ่มศิลปินเพลง, และสื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว จัดโครงการคอนเสิร์ตการกุศล “ส่งต่อความหวัง พลังชีวิต เพื่อน้องโรคเลือดและมะเร็งเด็ก” จัดงานเสวนาให้ความรู้สถานการณ์โรคเลือด และมะเร็งในเด็ก กิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ปกครองและผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาไปแล้ว กิจกรรมการแสดงจากดารา ศิลปินและผู้ประกาศข่าว และพิธีมอบเงินบริจาคเพื่อเข้าสมทบกองทุนฯ
ผู้ที่สนใจร่วมบริจาค สามารถโอนเงินเข้าบัญชี “เงินทุนโลหิตวิทยา กุมารจุฬาฯ” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 045-297217-0 โดยเงินบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็กภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 ประสานงานโครงการ: 02 -256-4949 (ในเวลาราชการ), 092-010-6509 (นอกเวลาราชการ) . – สำนักข่าวไทย