กรุงเทพฯ 28 ก.ย.-ราคาน้ำมันดิบพุ่ง ดูไบเกิน 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล กบง.ยืนยันดูแลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร อนุมัติเพิ่มเพดานอุดหนุนจากกรอบ 30 สตางค์/ลิตร เพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร คาดใช้เงินไม่เกิน 6 พันล้านบาท บนฐานราคาน้ำมันดูไบไม่เกิน 85 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้านราคาแอลพีจีขยับขึ้นเช่นกัน กบง.ยืนยันดูแลไม่เกิน 363 บาท/ถัง 15 กก.มั่นใจตรึงดีเซล-แอลพีจีถึงสิ้นปี บนกรอบรวม 13,000 ล้านบาท
นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีตนเป็นเป็นประธาน ในวันนี้ ได้พิจารณาสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้น จากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐอเมริกา โดยสถานการณ์ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบ Brent ได้ไต่ระดับเกิน 82 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai ระดับราคาเกิน 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่มีนักวิเคราะห์คาดว่าหากปัญหากำลังผลิตตึงตัว และเข้าช่วงฤดูหนาว ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งแตะ 90-100 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน กบง.จึงเห็นชอบในการคงนโยบายรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร บนสมุมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 85 ดอลลาร์/บาร์เรล กบง. จึงได้มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ในอัตราไม่เกิน 1.00 บาท/ลิตร ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบเดิมที่เคยอนุมติใช้เงินกองทุนดูแลดีเซลในอัตราไม่เกิน 30 สตางค์/ลิตร
“ค่าการตลาดดีเซลวันนี้ อยู่ที่ 1.33 บาทต่อลิตร นับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งวานนี้ กบง.ได้อนุมัติเพิ่มเงินกองทุนอุดหนุนจาก 15 สต./ลิตร เป็น 30 สต./ลิตร มีผลในตั้งแต่เช้าวันนี้ นับว่าเต็มเพดานกรอบอุดหนุนเดิม ดังนั้น กบง.จึงต้องอนุมัติเพิ่มการดูแลเป็นไม่เกิน 1 บาท/ลิตร”รมว.พลังงาน กล่าว
ทั้งนี้ ตามกรอบอนุมัติดังกล่าว คาดว่าการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะสามารถรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันดีเซล ให้ราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จนถึงสิ้นปี 2561 เช่นเดียวกับการดูแลรคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี ) ที่ ขณะนี้ ราคาตลาดโลกขยับขึ้นเช่นกัน ซึ่ง กบง.ยังคงดูแลที่ราคา 363 บาท/ถัง 15 กก. ไปจนถึงสิ้นปี บนกรอบการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯดูแล ไม่เกิน 7 พันล้านบาท ซึ่งเชื่อมั่นว่าการดูแลราคาพลังงานครั้งนี้ จะไม่ทำให้สถานะเงินกองทุนน้ำมันติดลบ และต้องกู้ยืมเงินแต่อย่างใด
” กบง. และกระทรวงพลังงาน ยังคงติดตามและเตรียมมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลและ ส่งกระทบต่อค่าขนส่งสินค้าและ ค่าครองชีพของประชาชน เช่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งและบริการรถโดยสารสาธารณะ มาใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 ซึ่งมีราคาถูกกว่า 3 บาท/ลิตร ก็ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาใช้ เพราะขณะนี้มีผู้ใช้ 3 ล้านลิตร/เดือน จากเป้าหมาย 300 ล้านลิตร/เดือน”รมว.พลังงาน
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 23 ก.ย.2561 มีวงเงินสุทธิ 25,462 ล้านบาท โดยแยกเป็นบัญชีน้ำมัน 29,285 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 3,823 ล้านบาท
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาน้ำมันอาจปรับขึ้นถึง90ดอลลาร์/บาร์เรลหลังจากขณะนี้อยู่ที่80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งทุกฝ่ายต้องปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในส่วนกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในช่วงไตรมาส 3/61 คาดว่าอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2/61 เล็กน้อย จากค่าการกลั่น (GRM) ที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาล แต่คาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปิดสิ้นไตรมาส 3/61 เฉลี่ยที่ราว 76-78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 2/61
ขณะที่คาดว่า ค่าการกลั่นรวม (GIM )ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกทั้งปี 61 จะต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจาก GRM ในไตรมาส 3/61 อ่อนตัวมากกว่าที่คาด
ด้าน บมจ.ไทยออยล์ รายงานว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอุปทานที่จะตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากเข้าใกล้วันที่ 4 พ.ย. ซึ่งเป็นวันที่สหรัฐฯ เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านและจะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้ลดลง โดยตลาดประมาณการว่าตัวเลขน้ำมันดิบที่ลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จะอยู่ในช่วง 0.5 ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมายืนยันที่จะไม่พิจารณาการใช้น้ำมันดิบจากแหล่งสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) แม้ว่าตลาดจะกังวลถึงอุปทานที่หายไปจากอิหร่านก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าสหรัฐฯ จะมีการนำน้ำมันดิบจากแหล่งสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์มาใช้ หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นสูงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกลางสมัย (Midterm Elections) ในสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พ.ย. นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วน ซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อรักษาสมดุลของอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน. – สำนักข่าวไทย