กระทรวงดีอี 24 ก.ย. – “สมคิด” สั่งงานกระทรวงดีอี ขันน็อต 5 เดือนก่อนเลือกตั้ง สั่งผู้บริหารทีโอที-กสทฯ-ไปรษณีย์ไทย ปรับแนวทางเชิงธุรกิจแบบอาลีบาบา ติดตั้งเน็ตประชารัฐแบบเคลื่อนที่ ผลักดันกฎหมายค้างใน สนช. เร่งหาผู้ร่วมทุนดิจิทัลพาร์ค และ EECi หนุนไทยแลนด์ไซเบอร์พอร์ตเป็นรูปธรรม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารของค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ เข้าร่วมประชุม เพื่อเร่งรัดงานในช่วงเวลา 5 เดือนจากนี้จนถึงการเลือกตั้ง จึงขอให้กระทรวงดีอีขับเคลื่อนการทำงานให้มีผลออกมามากที่สุด จึงขอให้ดำเนินการ 6 ด้านสำคัญ คือ 1.ให้ผู้บริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปลี่ยนแนวทางการทำงานใหม่ออกมาเป็นเชิงธุรกิจแบบอาลีบาบารองรับการควบรวมกิจการทั้ง 2องค์กร
2.ศึกษาราคาอินเทอร์เน็ตถูกกว่าเดิม รองรับเน็ตประชารัฐลงไปตามหมู่บ้าน ไม่ใช่มีอยู่แค่จุดเดียวในหมู่บ้าน ต้องสามารถใช้มือถือเคลื่อนที่ไปต่อเชื่อมในจุดอื่นได้ด้วย ต้องมีประสิทธิภาพและความเร็ว เพื่อสร้างการรับรู้เน็ตประชารัฐให้กับประชาชน 1 ล้านคน ต้องทำได้จริงและมีวิธีการอย่างไรเช่นร่วมกับกูเกิล หัวเว่ย เสี่ยวมี่ หรือมหาวิทยาลัย ในการใช้วิธีการแบบใด ขณะเดียวกันขอความร่วมมือค่ายมือถือหาวิธีการ เช่นจัดทำแอพพลิเคชั่นช่วยทำให้เด็กต่างจังหวัดสามารถใช้ระบบออนไลน์ เพื่อการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
3.เร่งลงทุนขยายความจุของเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน อย่างรวดเร็ว ได้แก่ ขยายวงจรเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน 2,300 GB และขยายความจุเคเบิ้ลใต้น้ำ 1,770 GB ตลอดจนร่วมลงทุนในระบบใหม่ตามแผนที่กำหนดไว้ปี 2561 และ 2562 4.สั่งการให้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดีอี เร่งติดตามความคืบหน้าร่างกฎหมาย 7 ฉบับของกระทรวงดีอี จากคณะกรรมการกฤษฎีกา ติดตามงานจากทุกฝ่ายเพื่อให้กฎหมายออกมาให้ได้ไม่ใช่รอจนเลือกตั้ง เพราะมีเวลา 5-6 เดือน
5. เร่งจัดหาผู้มาร่วมลงทุนในดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้ได้มากที่สุด ก่อนการเลือกตั้ง โดยให้กำหนดเป้าหมายแต่ละประเทศให้ชัดเจนว่าต้องการจะไปดึงบริษัท มหาวิทยาลัย หรือสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วม ทั้งจีน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเดินทางไปเยือนปลายเดือนตุลาคมนี้ออกมาให้ชัดเจน รวมทั้งให้เร่งผลักดันให้เกิดไทยแลนด์ ไซเบอร์ พอร์ต ให้ได้ โดยเฉพาะการร่วมกับไซเบอร์ พอร์ต ของฮ่องกง เพื่อให้เกิดสตาร์ทอัพ และนำภาคการผลิต ทั้งการการเกษตรและการท่องเที่ยวมาใช้ประโยชน์ตรงนี้
6.การสร้างให้เกิดบิ๊ก ดาต้า ที่กระทรวงดีอี ต้องเข้าไปช่วยกระทรวงต่าง ๆ ดูวิธีการทำ เพราะขณะนี้ภาคเอกชนไปไกลแล้วทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู โดยเฉพาะทรู จะทำธุรกิจธนาคารแล้ว ซึ่งทำไม่ได้เลยหากไม่มีบิ๊กดาต้า เช่นเดียวกับอาลีบาบาที่จะทำธนาคาเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่รู้จะทำอย่างไร เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ มีข้อมูลจำนวนมาก หากทำเป็นบิ๊กดาต้าสามารถนำไปขายได้มูลค่ามหาศาล แต่ปัญหา คือ ยังไม่มี หรือกระทรวงดีอีอาจเลือกเข้าไปช่วยในบางหน่วยงานก่อน เพราะตราบใดที่บิ๊กดาต้ายังไม่เสร็จปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะไม่มีความหมายในเรื่องนี้ ถ้าทำต่อเนื่องไปสัก 2 ปี ประเทศไทยก้าวไปได้ไกลมาก.-สำนักข่าวไทย