กทม. 20 ก.ย. – ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ รายงานเมื่อปี 2559 พบสุนัขในไทยรวม 7.3 ล้านตัว เป็นสุนัขจรจัด 758,000 ตัวโดยประมาณ ขณะที่มีข้อกฎหมายบัญญัติไว้ว่า หากต้องเผชิญหน้าระหว่างคนกับสุนัขเพื่อเอาชีวิตรอด เราสามารถฆ่าได้หรือไม่
สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบข้อมูลจากแบบสำรวจสุนัขและแมว โครงการป้องกันและรณรงค์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2559 ของสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 รายงานว่า ทั่วประเทศมีสุนัขรวมทั้งสิ้น 7,380,000 ตัวโดยประมาณ แบ่งเป็นสุนัขมีเจ้าของ 6,622,000 ตัวโดยประมาณ แต่เป็นสุนัขจรจัดถึง 758,000 โดยประมาณ ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลสำหรับการสำรวจเพื่อรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า คาดว่าจำนวนปัจจุบันในปี 2561 อาจมีการปรับเปลี่ยน ส่วนข้อมูลจำนวนแมวทั่วประเทศมี 3 ล้านตัวเศษ เป็นแมวจรจัดประมาณ 470,000 ตัวโดยประมาณ
ในรายงานชิ้นเดียวกันพบว่า 8 อันดับจังหวัดที่มีสุนัขทุกชนิดมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ ประมาณ 700,000 ตัว รองลงมา นครราชสีมา เชียงใหม่ ชลบุรี และอันดับ 8 ที่มีสุนัขมากสุด คือ สกลนคร ประมาณ 182,000 ตัว
ส่วนข้อถกเถียงว่าหากในจังหวะจวนตัว เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนและสุนัข เพื่อเอาชีวิตรอด กฎหมายจะเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดมากที่สุด จากการตรวจสอบ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 พบว่าในมาตรา 21 มีข้อยกเว้นอยู่ 11 ข้อ ที่กำหนดให้การกระทำต่อสัตว์ที่ไม่ถือว่าเป็นการ “ทารุณ” และน่าจะใช้เป็นข้อต่อสู้หากมีคดี หากมีการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับสุนัข
1.การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร
2.การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์
3.การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
4.การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บ และไม่สามารถเยียวยา หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
5.การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
6.การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน
7.การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์
8.การตัด หู หาง ขน เขา หรืองา โดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์
9.การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น
10.การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ
11.การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
จากข้อสรุปกฎหมาย หากผู้ใดที่เผชิญหน้ากับสัตว์และจำเป็นต้องฆ่าเพื่อป้องกันชีวิต ก็ถือว่าทำได้ แต่หากในชั้นศาลพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นการป้องกันตัวและจงใจทารุณกรรมสัตว์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ. – สำนักข่าวไทย