ดินแดง 19 ก.ย.-เครือข่ายประมง ค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายแรงงานบังคับ จนประชุมล่ม ยันหากไม่แก้ไขนายจ้าง 5 หมื่นคนประท้วงสภาฯ แน่นอน ด้านปลัดฯแรงงาน ยืนยันพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่ายเพื่อให้กฏหมายบังคับใช้เป็นกลางมากที่สุด ไม่กระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19ก.ย.) กระทรวงแรงงานจัดประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 เพื่อประกอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. …ที่กระทรวงแรงงาน แต่การประชุมเริ่มไปได้ไม่นานก็ต้องยุติลง หลังผู้ประกอบการประมงกว่า 700 คน จาก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวมตัวคัดค้านการพิจารณากลางคัน เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. …. บางมาตราเอื้อประโยชน์ให้กับลูกจ้าง จนกระทบนายจ้าง
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบ การประมง เคยคัดค้านกฎหมายฉบับนี้เพราะมีบางมาตราไม่เห็นด้วยแต่วันนี้กระทรวงแรงงานก็ยังหยิบหยกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศไม่พอใจที่ไม่รับฟังเสียงสะท้อนของพวกเขา ซึ่งหากกฎหมายบังคับใช้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อนายจ้างในกิจการประมงแต่ยังทำให้นายจ้างในกิจการอื่นๆทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ เน้นให้ความคุ้มครองกับลูกจ้าง โดยเฉพาะในมาตรา6 (1)ที่ระบุว่า หากนายจ้างครอบครองเอกสารสำคัญใดๆของลูกจ้าง ทำให้เสียประโยชน์ ถือว่ามีความผิด ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหากนายจ้างเก็บเอกสารให้เพราะกลัวสูญหาย หรือเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถูกตรวจสอบ แต่เมื่อลูกจ้างไม่พอใจ กล่าวหาว่าถูกยึดเอกสารเพื่อให้ทำงานต่อ นายจ้างก็ถือว่ามีความผิด ถูกดำเนินคดีทันที
ไม่ต่างจากมาตรา 6 (4) ที่ระบุว่า หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ่าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามที่สัญญาจ้างกำหนด ถือว่ามีความผิดอาจกระทบนายจ้างรายเล็กอย่างผู้ประกอบการ SME พ่อค้าแม่ค้าที่รายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอนบางครั้งต้องเลื่อนจ่ายเงินเดือนออกไปเพราะมีความจำเป็น หากกฎหมายบังคับใช้ อาจเป็นช่องว่างที่เอื้อต่อลูกจ้างที่ไม่พอใจ ก็ไปร้องเรียนต่อรัฐ เข้าข่ายแรงงานบังคับ นายจ้างถูกจับดำเนินคดี
นายมงคล กล่าวต่อว่า มาตรา6(5) ก็เช่นกัน ที่ระบุว่า นายจ้างต้องจัดเวลาพัก ให้ลูกจ้าง ตนมองว่างานแต่ประเภทมีลัษณะการทำงานไม่เหมือนกัน อย่างประมงเวลาพักไม่แน่นอน เมื่อออกเรือแล้วหาปลามาได้จำนวนมาก ลูกจ้างอาจต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ปลาเน่าเสียหาย หากลูกจ้างไม่อยากทำแล้วไปร้องเรียน นายจ้างก็มีความผิด ต้องรับโทษและโทษที่ได้รับก็สูงเพิ่มเป็น 2 เท่าจากเดิม 5 ปีเป็น 10 ปี และเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ แม้นายจ้างจะยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แล้วก็ตาม ซึ่งตนมองว่ามันรุนแรงเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
‘กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างเต็มที่ออกตรวจได้ค้นได้เต็มที่ อาจเป็นช่องว่างที่เจ้าหน้าที่อาศัยช่องว่างนี้ในการเรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้าง ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ กระทรวงแรงงานควรแก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา การดูแลสิทธิแรงงาน กลุ่มนายจ้างไม่ได้คัดข้อง แต่กฎหมายเอื้อประโยชน์ทั้ง2 ฝ่าย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะการประกอบอาชีพ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเดินไปด้วยด้วย ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ อันไหนที่ไม่ดีบกพร่องต้องปรับให้เข้าที่ เพราะนายจ้างดีๆมีอีกมากกว่านายจ้างไม่ดี’ นายมงคล กล่าว และว่า หากกระทรวงแรงงาน ไม่มีการแก้ไขตามที่เรียกร้อง เครือข่ายนายจ้างกว่า 50,000คน ทั่วประเทศจะรวมตัวบุกไปที่สภา เพื่อประท้วงไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้เด็ดขาด
ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในเบื้องต้นรับหลักการไว้พิจารณา โดยจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้กฏหมายบังคับใช้ เป็นกลางมากที่สุด ไม่กระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อย่างรอบด้าน และนำมาประกอบการพิจารณา ตามกระบวนการของกฏหมาย ซึ่งนายจ้าง ผู้ประกอบการ จากหลายประเภทกิจการ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคประมง หากมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างไร กระทรวงแรงงานจะรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป .-สำนักข่าวไทย