ภูมิภาค 17 ก.ย.- ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่น “มังคุด” สร้างความเสียหายอย่างหนักในฮ่องกงและฟิลิปปินส์ ล่าสุด พายุลูกนี้อยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ และอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน แต่ยังมีอิทธิพลรุนแรงทำให้ฝนตกหนักหลายพื้นที่ของไทย
นี่เป็นสภาพความเสียหายจากความรุนแรงของพายุฝนกระหน่ำ และและเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินเลื่อนไหลทับใส่บ้านเรือนของชาวบ้าน ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ศูนย์พื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่ละอูน ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและอพยพชาวบ้านไปยังที่ปลอดภัย เบื้องต้น พบผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ มีผู้บาดเจ็บ 11 คน และ ยังสูญหายอีก 7 คน ส่วนบ้านเรือนเสียหายหมดทั้งหลัง จำนวน 6 หลังคาเรือน เสียหายบางส่วน 8 หลังคาเรือน นอกจากนี้ ยังมีสิ่งปลูกสร้างเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง ล่าสุด กำลังทหารและฝ่ายปกครองได้ระดมเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและค้นหาผู้สูญหาย
ที่จังหวัดจันทบุรี มีฝนตกหนักตลอดคืนที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ตำบลเกวียนหัก และ อำเภอขลุง ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนหลายสาย และยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านบอกว่าฝนตกหนักมากจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เก็บของแทบไม่ทัน ขณะที่หลายหน่วยงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบความเสียหายและให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนที่สวนรุกขชาติวังก้านเหลือง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ต้องปิดป้ายเตือนนักท่องเที่ยว ห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด หลังพายุฝนกระหน่ำติดต่อกันมา 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าถล่มสวนรุกชาติน้ำตกวังก้านเหลืองอย่างรุนแรง น้ำไหลเชี่ยวกราก น้ำมีปริมาณมากและเป็นสีแดงขุ่นเข้ม เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ที่จังหวัดสตูล มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ควนโดน ระลอกสอง เช่นเดียวกับพื้นที่ต.ฉลุง อ.เมือง ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากน้ำเหนือจาก อ.ควนโดน ไหลมาสมทบ โดยเฉพาะถนนสายตรัง-สตูล ช่วงหลัก กม.ที่ 1 – 2 ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล มีน้ำท่วมขังสูง ทำให้การจราจรลำบาก บางช่วงรถติดยาวถึง 3 กิโลเมตร เบื้องต้นมีโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว 3 แห่ง
มีคำชี้แจงจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า จากกรณีสื่อต่างประเทศนำเสนอภาพถ่ายดาวเทียมสภาพอากาศของโลกในช่วงนี้ โดยสื่อให้เห็นว่าในมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก เกิดรูปแบบการก่อตัวของพายุเรียงกันอยู่ถึง 10 ลูกนั้น ทางผู้อำนวยการจิสด้า บอกว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยจากการติดตามหย่อมความร้อนและความชื้นในมหาสมุทรต่างๆ นักวิชาการมีการใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อคาดการณ์การก่อตัวของพายุมาโดยตลอด ซึ่งหลายครั้งที่หย่อมอากาศดังกล่าวสลายตัว โดยไม่เกิดพายุขึ้น จึงไม่ควรที่จะนำภาพจากเครื่องมือในการติดตามศึกษาสภาพอากาศ มาตีความด้วยตัวเอง ซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนกและเข้าใจผิดได้.-สำนักข่าวไทย