กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – บอร์ด กกพ.ชุดใหม่เริ่มเข้าที่ทำงานวันนี้ ด้านเอกชนมั่นใจชาวบ้านติดโซลาร์รูฟท็อปเพียบ หากนโยบายรับซื้อส่วนเกินจากรัฐชัดเจน ด้าน กฟผ.ปรับตัวเล็งศึกษาเข้าตลาดไฟฟ้าขายปลีกรับ OPEN MARKET
นายสุภัทร์ รัตนโสภณชัย ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์นวัตกรรม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รอนโยบายส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนว่าจะตัดสินใจรับซื้อมากน้อยเพียงใด โดยขณะนี้พฤกษาปรับตัวเน้นสร้างอสังหาริมทรัพย์เป็นอาคารประหยัดพลังงานมากขึ้น ในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมพร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแก่ลูกค้า ส่วนคอนโดมิเนียมได้ ออกแบบเป็นอาคารประหยัดพลังงานจนได้รับรางวัลมาแล้ว โดยคอนโดมิเนียม “แชปเตอร์วัน อีโค รัชดา-ห้วยขวาง” เป็น 1 ใน 18 อาคารที่ได้รับมอบฉลากรับรองอาคาร (BEC Awards) ประจำปี 2561
“พฤกษาพร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโครงการใหม่แก่ลูกค้า เพื่อเป็นทางเลือก โดยหากติดตั้งลูกค้าจะจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 บาท แต่ยังไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า ดังนั้น จึงแนะนำเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวันจำนวนมาก หากกระทรวงพลังงานออกนโยบายโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินของบ้านแต่ละหลัง ก็คาดว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกค้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเข้าร่วมโครงการ SET ZERO ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งส่งเสริมโครงการบ้านเบอร์ 5 และติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประหยัดพลังงาน” นายสุภัทร์ กล่าว
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เยี่ยมชมอาคารอนุรักษ์พลังงาน “เซ็นทรัลพลาซามหาชัย” ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หนึ่งในอาคารที่ได้รับการรับรองอาคาร (BEC Awards) และรางวัลระดับดีเด่นที่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารด้านพลังงาน Building Energy Code (BEC) ที่ให้ความสำคัญในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จนถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในการวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อพื้นที่มีผลประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 74 เช่น เลือกใช้วัสดุเพื่อการก่อสร้างที่ใช้อิฐมวลเบา เป็นฉนวนกันความร้อนและทนไฟ ส่วนหลังคา ใช้เป็นคอนกรีต และแผ่นแมทเทินชีสติดฉนวนใยแก้วหุ้มด้วยแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์มีคุณสมบัติการกักเก็บความร้อนได้เป็นอย่างดี ทำให้การเลือกติดตั้งเครื่องปรับอากาศสามารถเลือกใช้แบบระบบ Water –Cooled Chiller ที่มีประสิทธิภาพร่วมกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านความเย็นภายในอาคารที่มีประสิทธิภาพ และใช้หลอดไฟฟ้าแอลดีอีประหยัดพลังงาน
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. กล่าวว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีแผนเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้าในรูปแบบ OPEN MARKET รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ 3 การไฟฟ้าอย่างแน่นอน ดังนั้น กฟผ.จึงต้องปรับตัว และหนึ่งในโมเดลที่กำลังพิจารณา คือ การเข้าไปสู่ตลาดขายปลีก โดยจากการศึกษาโตเกียวอิเล็คทริกของญี่ปุ่นก็ได้ปรับตัวจากขายส่งไปสู่ขายปลีก ปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนโครงการโซลาร์ลอยน้ำ เบื้องต้น กฟผ.ได้ศึกษาจะลงทุนก่อสร้างที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น 30 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะเป็นส่วนเสริมพลังงานทดแทนให้มีความมั่นคงเพิ่มขึ้นทั้งผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยลดภาระโลกร้อน
“หากเป็น OPEN MARKET แน่นอนว่ารายได้ของ กฟผ.ในส่วนของการขายไฟฟ้าที่มาจากการค้าจะลดลงอย่างแน่นอน และกระทบต่อสัดส่วนผลิตไฟฟ้า ขณะนี้ กฟผ.เหลือเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อตลาดเปิดเสรี กฟผ.ก็ย่อมสามามารถทำธุรกิจค้าปลีกได้เช่นกัน” นายสหรัฐ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ (17 ก.ย.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดใหม่ ที่มีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธาน เข้าที่ทำงานที่อาคารจามจุรีแสวร์เป็นครั้งแรก หลังจากหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 แต่งตั้งกรรมการทั้ง 7 คนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หนึ่งในหลายมาตรการที่ทุกคนติดตาม คือ เรื่องดีลซื้อหุ้นระหว่างจีพีเอสซีและโกลว์พลังงาน ซึ่งตามกฎหมาย กกพ.จะต้องพิจารณาเสร็จสิ้นเดือนกันยายนนี้และขยายเวลาได้อีก 15 วัน หรือถึงกลางเดือนตุลาคม 2561.- สำนักข่าวไทย