กรุงเทพฯ 16 ก.ย. – กรมชลฯ เผยผลสำเร็จการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ย้ำทุกโครงการฯ โปร่งใส พร้อมเร่งเดินหน้า 4 โครงการตามมติ กนช.
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา กรมชลประทานเสนอแผนงานโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้ที่ประชุม กนช.พิจารณา 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และโครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กนช.ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 27,449 ล้านบาท
สำหรับผลสำเร็จของการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำของกรมชลประทาน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันที กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามแผนงานบูรณาการน้ำ 2.53 ล้านไร่ มีความจุของน้ำอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องศึกษาผลกระทบเรื่องของการใช้พื้นที่ต่าง ๆ นั้น รัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญในการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องงบประมาณและการขออนุญาตใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ส่งผลให้กรมชลประทานสามารถเร่งรัดการทำงานโครงการต่าง ๆ เร็วขึ้นกว่าเดิม ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับประชาชนทุกภาคส่วน เนื่องจากสามารถดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้เสร็จได้เร็วขึ้น รวมถึงทำให้ได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ
“ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินงานของกรมชลประทาน เนื่องจากมีแนวทางชัดเจนจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นำมากำหนดเป็นแผนโครงการเพื่อตอบโจทย์ตามแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน พร้อมเร่งรัดงบประมาณการดำเนินงานปี 2562 และกำชับการดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สำหรับปีต่อไปกรมชลประทานพร้อมจะเดินหน้าบริหารจัดการน้ำ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างการตระหนักรู้ในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ และดำเนินการแผนเก็บกักน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย