กรุงเทพฯ 7 ก.ย.- วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก สำหรับประเทศไทย แม้การฆ่าตัวตายสำเร็จจะลดลง แต่กลับพบอัตราฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จิตแพทย์แนะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจากครอบครัวและสังคมจะช่วยลดปัญหาได้
ความสูญเสียชายผู้เป็นที่รักจากไปเมื่อ 3 ปีก่อน โดยไม่มีโอกาสแม้แต่สั่งลา คือความเจ็บปวดที่สุดในชีวิตของหญิงชราวัย 83 ปีคนนี้ ความทุกข์กัดกร่อนหัวใจ จนยากจะรับไหว การมีชีวิตอยู่กลายเป็นทรมาน ความตายจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้หลุดพ้น และเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เธอเคยคิดจะทำ แต่ด้วยความรักจากคนในครอบครัว ความเข้าใจ จึงทำให้เธอก้าวผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้
ไม่ต่างจากป้าหนูวัย 70 ปี ที่เคยคิดอยากฆ่าตัวตาย ใช้มีดกรีดข้อมือตัวเอง เพราะรู้รึกไร้ค่า ไร้ประโยชน์ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยไม่รู้ว่าตัวเองป่วยโรคซึมเศร้า โชคดีที่สามีและลูกเข้าใจ อยู่เคียงข้าง พาไปรักษาจนหาย และใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งใน 53,000 คน ที่พยายามคิดฆ่าตัวตาย ถึงมีอุบัติเหตุ ฆาตกรรมเกิดขึ้นรายวัน แต่สถิติการเสียชีวิตกลับไม่สูง หากเทียบกับการฆ่าตัวตาย ที่เฉลี่ย 3,000-4,000 คน/ปี หรือ 10 คน/วัน หรือ 1 คน ทุกๆ 2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน การผูกคอตายเป็นวิธีที่ผู้ตายส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 79 เลือกใช้ รองลงมาคือ กินยากำจัดวัชพืชและสารพิษ แม้สถิติปี 2560 พบฆ่าตัวตายสำเร็จ 6.03 คน/ประชากรแสนคน มีแนวโน้มลดลง แต่ที่น่ากังวล กลับพบผู้สูงอายุฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมาพบสูงถึง 8.7 คน/ประชากรแสนคน
การที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียมากกว่าวัยอื่น ทั้งคนที่รัก งานที่เคยทำ รวมถึงสุขภาพที่เคยแข็งแรง ประกอบกับมักถูกสังคมมองว่าเป็นคนไร้ศักยภาพ ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากมีชีวิต การเอาใจใส่ พูดคุย จากคนในครอบครัวและสังคม ถือเป็นการป้องกัน ลดปัญหาการอยากฆ่าตัวตายได้ดีที่สุด
จากการวิจัยพบการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ไม่เพียงทำให้จิตใจผู้สูงอายุกลับมาเข้มแข็ง เกิดความภูมิใจ เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แล้ว การมีเครือข่ายทางสังคม มีเพื่อนที่เข้าใจ รับฟังปัญหา ยังทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายที่ดี อายุยืน ห่างไกล และหายจากโรคได้เร็วขึ้นกว่าร้อยละ 50 คนวัยอื่นก็เช่นกัน.-สำนักข่าวไทย