กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3 ก.ย.- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีกำจัดยุงพาหะโรคติดต่อ ด้วยสารที่ใช้ซักล้างในครัวเรือนต้นทุนต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และไม่ทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมี
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ไข้เลือดออกนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค การป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ดีที่สุดคือการควบคุมยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก โดยประชาชนต้องร่วมมือกัน หมั่นตรวจตราบริเวณที่พักอาศัย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ลูกน้ำ และตัวยุง ซึ่งวิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือการใช้สารเคมีกำจัดยุงลาย แต่ก็มีข้อเสียคือ สารเคมีบางชนิดมีราคาแพง และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของได้ ตลอดจนทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมี
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ค้นพบวิธีการที่จะทำให้ประชาชน สามารถกำจัดยุงลายในบ้านเรือนได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และสะดวก เพียงนำสารซักล้างที่มีอยู่แล้วภายในบ้านเรือน มาประยุกต์ทำเป็นสารกำจัดลูกน้ำและตัวยุงที่มีความปลอดภัยสูง สารดังกล่าวมีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว สามารถเข้าไปจับกับลำตัวของลูกน้ำยุงหรือตัวยุงได้ จากนั้นจะเข้าไปปิดกั้นทำลายระบบการหายใจของตัวแมลง และทำให้แมลงตายในที่สุด โดยมีวิธีการดังนี้ คือ การกำจัดลูกน้ำยุง ใช้ผงซักฟอกโรยลงไปในภาชนะขังน้ำที่ไม่สามารถคว่ำได้ เช่น จานรองขาตู้กันมด แจกัน ศาลพระภูมิ ในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำขัง 2 ลิตร วิธีนี้ผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ ลูกน้ำ และตัวโม่งจะดูดซับสารเหล่านี้เข้าสู่ระบบหายใจ และตายไปในที่สุด
การกำจัดยุงตัวเต็มวัย ทำได้โดยการใช้ผงซักฟอกหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น แชมพู น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว ในอัตราส่วน 1 ส่วน ต่อน้ำ 4 ส่วน ค่อยๆ คนอย่าให้เกิดฟอง ใส่ในกระบอกฉีดพรมผ้า ฉีดไปยังตัวยุงโดยตรงหรือฉีดไปตามที่มืดหรือมุมอับที่เห็นกลุ่มยุงไปเกาะพักอยู่ เช่น ตามมุมในห้องน้ำ ราวแขวนเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งยุงจะตายภายใน 10-20 วินาที เป็นวิธีการกำจัดยุงที่ง่าย ต้นทุนต่ำ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง และไม่ทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมี
นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังค้นคว้าวิจัยสารกำจัดลูกน้ำยุงลายชนิดหินภูเขาไฟสังเคราะห์ หรือ ซีโอไลท์ ใช้ในการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงต่างๆ ในแหล่งเพาะพันธุ์ตามภาชนะน้ำขัง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่ภาคเอกชน เพื่อผลิตและจำหน่ายในท้องตลาด ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 02-295-2151-3.-สำนักข่าวไทย