17 ก.ย. – กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาห้องปฏิบัติการพิษวิทยา ให้สามารถตรวจสารเคมีได้ 500 ชนิด ตามมาตรฐานอียู ผู้ประกอบการหายห่วงว่าสินค้าส่งออกไปยังอียูจะถูกชะลออีกต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การผลิตพืชผัก ผลไม้หลายชนิดประสบปัญหาปนเปื้อนสารพิษ เกิดจากการตกค้างมาตั้งแต่การเพาะปลูกในปริมาณสูง หากลดความเสี่ยงไม่ได้ ผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่ประเทศไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป หรือ อียู ก็จะถูกชะลอการนำเข้า เสียหายเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาห้องปฏิบัติการของไทยให้สามารถตรวจวิเคราะห์ สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชให้ได้อย่างน้อย 500 ชนิด ตามมาตรฐานสากล
ปกติระยะเวลาการตรวจผักผลไม้ 1 ชนิด จะใช้เวลาตรวจประมาณไม่เกิน 5 วัน ทำการ แต่ผู้ประกอบการต้องส่งไปตรวจที่ศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ค่าตรวจชนิดละประมาณ 100,000 บาท
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้พัฒนาห้องปฏิบัติการพิษวิทยา จนสำเร็จ ให้สามารถตรวจวิเคราะห์สารเคมีได้ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ใน 10 กลุ่ม ที่เป็นข้อกำหนดอ้างอิงของ EU จากเดิมที่สามารถตรวจได้ประมาณ 200 ชนิด ใน 4 กลุ่มเท่านั้น
ทั้งนี้ “ห้องปฏิบัติการพิษวิทยา” นี้สามารถตรวจรับรองผักผลไม้ ทั้งที่ส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ที่สามารถตรวจได้ตามที่อียูกำหนด ซึ่งเราหวังเป็นศูนย์กลางการตรวจหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภูมิภาคอาเซียน. -สำนักข่าวไทย