กรุงเทพฯ 31 ส.ค. – กรมชลประทานเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา หลังกรมอุตุฯ คาดการณ์จะมีฝนตกตอนบนของประเทศและอาจมีพายุ รวมทั้งต้องรับน้ำที่ระบายจากเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองสาขาท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีระดับสูงขึ้น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงต้นเดือนกันยายนจะมีฝนตกทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ตะวันตก อีกทั้งปลายเดือนอาจมีพายุโซนร้อนเข้าสู่ประเทศไทย กรมชลประทานจึงเตรียมรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวันนี้ได้เพิ่มปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นวันแรก เพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเล โดยระบายท้ายเขื่อนที่อัตรา 780 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำสูงขึ้น แต่จะยังคงอัตราการระบาย 700- 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงสั่งการให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ,) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองสาขา ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝน-น้ำท่าที่เกิดขึ้นจริงแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือส่งผลน้อยที่สุด
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า ได้ออกตรวจสถานการณ์น้ำพบว่าน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีแนวโน้มลดลง ทำให้น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ทรงตัวอยู่ที่ 1,134 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ 780 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะคงปริมาตรการระบายที่ 700-800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำท้ายแม่น้ำเจ้าพระยาออกทะเล ขณะเดียวกันหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจะมีพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มขึ้น
สำหรับการเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้น แต่ที่ได้รับผลกระทบขณะนี้มีเพียงที่เดียว คือ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมาก ระดับน้ำแม่น้ำน้อยสูงขึ้น 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ นายสุรชาติย้ำว่าขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะเมื่อเทียบอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปีนี้กับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ปีที่แล้วระบายถึง 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มากกว่าปีนี้เกือบเท่าตัว หากไม่เกิดพายุหรือมีฝนตกหนักในพื้นที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนจะทรงตัวอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์จากนั้นจะลดลง
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) รายงานถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา ว่ามีน้ำรวมกัน 16,214 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 65 % เป็นน้ำใช้การได้ 9,518 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 52 % ยังรับน้ำได้อีก 8,650 ล้าน ลูกบาศก์เมตร วางแผนระบายน้ำเขื่อนภูมิพล วันละ 5-8 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนวันละ 1.30 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนไม่ได้รับผลกระทบ
ส่วนแม่น้ำท่าจีนระดับน้ำมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จึงเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนบริเวณอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี 12 เครื่อง ที่จังหวัดนครปฐฒ ติดตั้งที่อำเภอบางเลน 16 เครื่อง อำเภอนครชัยศรี 31 เครื่อง และอำเภอสามพราน 22 เครื่อง รวม 81 เครื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น.-สำนักข่าวไทย