กรมประชาสัมพันธ์ 29 ส.ค.-11สภาวิชาชีพค้าน มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ…. ที่กำหนดให้สภาวิชาชีพไม่เข้าไปรับรองการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เหตุห่วงใยการประกันคุณภาพการศึกษา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และอาจขัดต่อกฎหมายสภาวิชาชีพ
สมาพันธ์สภาวิชาชีพเเห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 11 สภาวิชาชีพ ได้แก่ เเพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวเเพทยสภา สภาเทคนิคการเเพทย์ สภากายภาพบำบัดและสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์เเถลงข่าว เรื่อง(ร่าง)พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ….ผลกระทบต่อชีวิตเเละสวัสดิภาพของประชาชนไทย ภายหลังมีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ….ที่กระทรวงศึกษาเสนอ ไปพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทาวง ทบวง กรมพ.ศ….ที่ ก.พ.ร.เสนอ
นายทัศไนย ไชยเเขวง อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาพันธ์วิชาชีพแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ เเต่มีความกังวลว่าบางมาตราในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ….ก้าวล่วงมาในอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาอาจมีปัญหาเรื่องการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะมาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 ซึ่งมาตรา 64 , 65 และ 66 คือ ห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรอง หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา และมีให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจะเตรียมการประกอบอาชีพ ทำได้เพียงแต่จัดการประเมินความรู้และทักษะในการประกอบวิชาชีพนั้นแก่ผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อประกอบอาชีพที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งหมายถึงการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ จากกฎหมายเดิมกำหนดในกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันที่จะรับรองว่านักศึกษาจะมีความรู้เพียงพอที่จะสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ในอนาคต เเละตรวจสอบการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเพราะไม่อยากให้การผลิตบัณฑิตสูญเปล่า จนสุดท้ายเด็กอาจสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้ สมาพันธ์จึงเห็นว่าหากมีการใช้ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะมีผลกระทบตามมาคือจะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแล้วจะไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถสอบวัดความรู้ผ่านเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ ซึ่งผู้ที่สอบความรู้ไม่ผ่านจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมาย เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติ ส่งผลให้คุณภาพมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง อาจทำให้เกิดผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่มีใบอนุญาตแอบแฝงและเกิดการประกอบวิชาชีพอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้แผนการพัฒนาบุคลากรด้านการประกอบวิชาชีพที่รัฐบาลวางแผนระดับชาติไว้ล้มเหลว เกิดผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม ในระยะยาว
ขณะที่มาตรา 48 ระบุว่าสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา จากเดิมให้อำนาจสถาบันอุดมศึกษาให้บริการด้านวิชาการเท่านั้น ตรงนี้สมาพันธ์เห็นว่าการให้บริการทางวิชาชีพและให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ มิใช่ หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา ตามบทบัญญัติตามมาตรา 37(3) ดังนั้นย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อสถาบันกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพ เพราะเมื่อสถาบันการศึกษาไปให้บริการหรือคำปรึกษางานทางวิชาชีพที่เข้าข่ายเป็นการทำสัญญารับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถือเป็นการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพนั้นๆ
ดังนั้น จึงขอแสดงจุดยืนคัดค้าน มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ….. เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนไทย
ด้านทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ทั้ง 4 มาตราเเห่งพ.ร.บ.อุดมศึกษาที่กล่าวไปข้างต้น หากมีการประกาศใช้จะทำให้มาตรฐานวิชาชีพตกต่ำลง คุณภาพการศึกษาของนักศึกษาเเละเเรงงานของประเทศจะเเย่ลง เพราะไม่ให้สภาวิชาชีพเข้าไปคุ้มครองการศึกษาของนักศึกษา โดยเฉพาะการเรียนการสอนด้านสาธารณสุข ทั้งสายการเเพทย์ เภสัชกรเเละพยาบาล เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน หากไม่ได้คนที่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน ชีวิตคนในประเทศก็จะเสี่ยงเเละจะไม่ได้รับความปลอดภัยในชีวิต จึงยืนยันว่า พ.ร.บ.ใหม่ โดยเฉพาะใน4 มาตราดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตคนในประเทศ หากไม่ให้สภาวิชาขีพเข้าไปช่วยดูระบบการจัดการศึกษา
ขณะที่ พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพล นายกสภาสถาปนิก กล่าวเสริมว่า อดีตไทยพบปัญหามาตลอดว่ามหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนโดยไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพกำหนด นักศึกษาจบมาจะได้รับเเค่ใบปริญญาเเต่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำงานเฉพาะด้านที่ศึกษามาไม่ได้ จึงอยากเสนอว่าในมาตรา 48 เเห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษาพ.ศ.ที่ระบุให้สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ ให้ตัดคำว่าวิชาชีพออก .-สำนักข่าวไทย