กรุงเทพฯ 27 ส.ค.-ปตท.สผ.-เชฟรอน
ยังอุบไต๋ไม่เปิดผลเจรจาการขอเพิ่มสัดส่วนร่วมทุนแหล่งเอราวัณ โดยระบุให้รอ 25
ก.ย.นี้ ด้านเชฟรอน ชี้การผลิต”เหนื่อย”ต้องลงทุนเพิ่ม แต่มีข้อกำจัด
เรื่องราคาขาย-ปริมาณผลิต โดย
ปตท.สผ.รุกจับมือปิโตรนาสพร้อมประมูลแหล่งเล็กๆในมาเลเซีย
นายพงศธร ทวีสิน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า
บริษัท เตรียมพร้อม ในการ ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ
ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ การเปิดประมูลแหล่ง บงกช-เอราวัณ ในวันที่ 25 กันยายน 2561
ซึ่งต้องเตรียมเงินยื่นซองประมูล 50,000 บาท/ซอง
และหลักประกันการยื่นคำขอ 3 ล้านบาท/แหล่งประมูล โดยในส่วนแหล่งเอราวัณ
ในขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจะยื่นร่วมกับเชฟรอนฯ หรือไม่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้
บริษัทถือหุ้นเพิ่มจาก ร้อยละ 5 เป็นมากกว่า ร้อยละ 10 และหากตกลงกันไม่ได้แล้ว
พันธมิตรใหม่จะเป็นใครก็คงจะทราบกันในวันที่ 25 ก.ย.
“เราเตรียมพร้อมในการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคในการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ
โดยตามเงื่อนไขต้องเสนอรรายชื่อพันธมิตรผู้ร่วมทุนให้เบ็ดเสร็จ ส่วนหลังจากเสนอไปแล้ว
ทางภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเลือกหน่วยงานรัฐหน่วยงานใด มาถือหุ้น
ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 หรือไม่ ก็คงต้องแล้วแต่รัฐ ซึ่ง
บริษัทมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่ภาครัฐกำหนดทั้งให้ผลิตจาก2แหล่งรวม 1,500
ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน และราคาก๊าซฯใกล้เคียงกับปัจจุบัน” นายพงศธร กล่าว
นายพงศธร
กล่าวด้วยว่า ปตท.สผ. ได้หารือกับปิโตรนาส เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งกระเปาะเล็กๆในพื้นที่ทางทะเลของมาเลเซีย
ที่มีพื้นที่คล้ายคลึงกับอ่าวไทย จากเดิมที่มาเลเซีย พัฒนาแต่แหล่งใหญ่ๆเท่านั้น
ซึ่งคาดว่าจะปริมาณก๊าซฯเช่นเดียวกับ แหล่งบงกช-เอราวัณ อย่างไรก็ตาม
จะได้พัฒนาหรือไม่ ในขณะนี้รอรัฐบาลมาเลเซียในการเปิดสัมปทาน
ส่วนแหล่งอื่นๆ
ปตท.สผ. ได้เดินหน้า พัฒนาโครงการที่ได้สัมปทานไว้แล้ว
เพื่อให้เดินหน้าธุรกิจผลิตได้ตามเป้าหมาย
ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีการจำหน่ายราว 310,000 บาร์เรล/วัน
และทิศทางของบริษัทจะลงทุนผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นหลักและเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ร้อยละ
70 ในขณะเดียวกันเดินหน้าลดต้นทุนผลิตต่อหน่วยให้ต่ำที่สุดจากปัจจุบันที่อยู่ที่
30 ดอลลาร์หสรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหนึ่งในแนวทางคือนำเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญของพนักงาน
ในปรับปรุงกระบวนการสำรวจและผลิต ทำให้ต้นทุนลดได้อย่างน้อยร้อยละ 10
ด้านราคาน้ำมันดิบปีนี้แม้บริษัทจะมีการปรับประเมินราคาเฉลี่ยไว้ที่ 65-70
ดอลลาร์หสรัฐต่อบาร์เรล แต่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านก็คงจะต้องตามดูว่า
อาจจะทำให้ราคาน้ำมันขยับเพิ่มขึ้นไปสู่แนวสูงที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรลหรือไม่
โดยต้องดูว่า รัสเซียและซาอุดิอาระเบียจะผลิตน้ำมันขึ้นมาทดแทนมากน้อยเพียงใด
นายไพโรจน์ กวียานันท์. ประธานกรรมการบริหาร. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต กล่าวว่า บริษัทแม่เป็นผู้พูดคุยกับ
ปตท.สผ.ในเรื่องสัดส่วนร่วมทุนการประมูลแหล่งเอราวัณ ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ วันที่
25 ก.ย. ก็จะทราบว่า พันธมิตรใหม่ คือใคร แต่ยอมรับว่า จะเหนื่อยมากขึ้น เพราะ
ปริมาณก๊าซที่ลดลง ทำให้ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ให้ได้ประสิทธิภาพสูง
ในขณะที่ภาครัฐก็มีข้อกำหนดเรื่องราคาและปริมาณผลิต ในช่วง10 ปีที่ได้ผลิต นับเป็นเรื่องท้าทายมาก
ไม่ง่ายต้องใช้ฝีมืออย่างสูง อย่างไรก็ตาม หลังการยื่นประมูลแล้ว
ภาครัฐก็ต้องเร่งตัดสินใจ เพราะจะมีผลต่อการลงทุนของผู้ผลิต ซึ่งหากเจ้าเดิมหรือเจ้าใหม่ได้ผลิต
ก็จะได้วางแผนการลงทุนที่ชัดเจนให้ได้ตามแผนที่รัฐกำหนดว่า 2 แหล่งนี้กำลังผลิต
จะลดลง จาก 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน หลัง หมดอายุสัมปทานในปี
2565-2566
ปัจจุบัน แหล่งบงกช
มี ปตท.สผ. เป็นOperatorโดยถือหุ้นร้อยละ 66.66 และบริษัท โททาล
อีแอนด์พี ไทยแลนด์ ร้อยละ 33.33 ส่วนแหล่งเอราวัณ
มีเชฟรอนฯ เป็นOperatorถือหุ้นร้อยละ 71.25 ,
บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด (MOECO)ร้อยละ 23.75และ ปตท.สผ.ร้อยละ 5-สำนักข่าวไทย