กรุงเทพฯ 24 ส.ค.- กรมการขนส่งทางบก แจง การเพิ่มโทษผู้ไม่มีใบขับขี่ เป็นร่างกฎหมายที่เกิดจากควบรวมกฎหมายควบคุมดูแลยานพาหนะ 2 ฉบับ เพื่อคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพ และลดอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยัน หากมีตำรวจฉวยโอกาสเรียกรับผลประโยชน์ ต้องถูกดำเนินคดีไม่มีละเว้น
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า การปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมดูแลยานพาหนะทั่วประเทศ เป็นควบรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ที่ล้าสมัย ซึ่งกฎหมายที่มีการปรับปรุงใหม่ มีเป้าหมายสำคัญในการคัดกรอง ผู้ขับขี่ให้มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการทำให้ใบอนุญาตขับขี่ออกยาก แต่ยึดง่าย พร้อมทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า การมีใบขับขี่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน หนึ่งในนั้น คือ การเพิ่มอัตราโทษผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาต และผู้ขับขี่ที่ไม่พกพาใบขับขี่ โดยยืนยันว่า แต่เดิมโทษที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ที่บังคับใช้กับรถขนส่งขนาดใหญ่ มีโทษสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาต เดิมจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ขณะที่พระราชบัญญัติรถยนต์ ที่บังคับใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ จะมีโทษน้อยกว่า ซึ่งเมื่อควบรวมกฎหมาย จึงต้องมีการกำหนดอัตราโทษใหม่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งเมื่อโทษสูงขึ้น จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป ตำรวจไม่มีอำนาจปรับ แต่จะทำสำนวนส่งฟ้องศาล เพื่อพิจารณาตัดสินโทษทันที แต่ขณะนี้ ยังเป็นร่างกฎหมาย และอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก สนช. ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อเสนอเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นการบังคับใช้กฎหมายใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบท์ รองอธิบดีกรมการขนส่ง ชี้แจงว่า แนวคิดเกิดจากต้องการเพิ่มใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบท์ จากเดิมที่มีแค่ใบอนุญาตขับขี่ถจักรยานยนต์ปกติ เนื่องจาก เป็นรถจักรยานยนต์สมรรถนะสูง และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานผู้ขับขี่ ให้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องมีการฝึกอบรมสมรรถนะการขับขี่ให้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยืนยันแนวคิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน
ด้าน พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจร โดยยืนยันว่า หากพบตำรวจฉวยโอกาสเรียกรับผลประโยชน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและวินัย ยืนยันไม่มีการช่วยเหลือกันอย่างแน่นอน ขณะที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนระหว่างการปรับปรุงกฎหมายใหม่
ขณะที่ พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจจราจร สามารถสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นระหว่างปฏิบัติงานได้ แต่เวลาแสดงตนกับประชาชน ต้องเปิดเผยใบหน้าชัดเจน หากประชาชนพบเห็นการแสดงตัวไม่ชัดเจน สามารถแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยได้ทันที
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ เมื่อต้นปี 2561 พบว่า คนขับขี่รถกระบะไม่มีใบขับขี่ 5 % ส่วนคนขับขี่รถยนต์ไม่มีใบขับขี่ 9 % ขณะที่คนขับขี่รถจักรยานยนต์ 30 % ไม่มีใบขับขี่ จากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ากลุ่มที่ไม่มีใบขับขี่จะมีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่มีใบขับขี่ถึง 2 เท่า เนื่องจากกลุ่มที่มีใบขับขี่จะรู้วิธีทำให้ตนเองปลอดภัยจากการขับขี่รถมากกว่าผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ นอกจากนี้ การสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ ในปี 2553 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 70,000 คน ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหมด พบว่า 30 % ไม่มีใบขับขี่ และผู้ที่ไม่มีใบขับขี่ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 15-25 ปี คิดเป็น 45 %
กรมการขนส่งทางบก ระบุ รถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2561) มีจำนวนทั้งสิ้น 38,428,304 คัน ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์จำนวน 20,548,178 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 8,796,543 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจำนวน 6,451,730 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 424,922 คัน ส่วนรถโดยสารประจำทางรวมจำนวนทั้งสิ้น 78,390 คัน ในขณะที่รถโดยสารไม่ประจำทางสะสมจำนวน 68,015 คัน และรถบรรทุกจำนวน 1,090,765 คัน.-สำนักข่าวไทย