กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – ก.เกษตรฯ ประชุมขับเคลื่อนนโยบายขยายตลาดดิจิทัลตามยุทธศาสตร์พระพิรุณ จัดทำแอพพลิเคชั่นเพิ่มช่องทางซื้อขายออนไลน์ เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยตรง
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมเกษตรดิจิทัล ครั้งที่ 2 ตามแผนพระพิรุณ 4.0 ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำ Mobile Application ชื่อ AGO Gap & ORGANIC ZONING และ Application Line AGO BOT เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติการทางเกษตรที่ดีและเหมาะสม โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถซื้อขายสินค้าเกษตรได้โดยตรง อีกทั้งสินค้าเกษตรที่ซื้อขายผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ยังผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย
สำหรับแอพพลิเคชั่น AGO Gap & ORGANIC ZONING ประกอบด้วย 1. GAP Database ฐานข้อมูลที่ปลอดภัย ผู้ใช้สามารถทราบถึงชนิดพันธุ์พืชต่าง ๆ ระดับมาตรฐานที่ได้รับ พิกัดที่สามารถนำทางไปหาเกษตรกรได้ และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ 2. GAP Zoning จะบอกถึงพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำการเกษตรที่ปลอดภัย 3. Organic Agri – Database บอกถึงฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ 4. Organic Agri – Zoning บอกถึงพื้นที่ที่เหมาะในการทำเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งสามารถตรวจสอบและนำทางไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม ในการทำเกษตรอินทรีย์ได้ และ 5. Online Store เป็นตลาดสินค้าออนไลน์ หากซื้อขายผ่านบัตรเครดิตจะมีสินค้าให้เลือกถึง 809 รายการ จากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นอกจากนี้ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ DGTFarm ของ มกอช. ซึ่งมีสินค้าถึง 549 รายการ ให้เลือกซื้อได้อีกด้วย สำหรับแอพพลิเคชั่น Line AGO Bot จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตอบคำถามแบบ Real-time สำหรับผู้ที่สนใจฐานข้อมูลและองค์ความรู้ด้าน GAP และเกษตรอินทรีย์ เป็น Two-Way Application โต้ตอบและเก็บสถิติ เพื่อวิเคราะห์ เป็น Big Data สามารถใช้เป็นเครื่องมือของกระทรวงเกษตรฯ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดิน และผู้ที่เกี่ยวข้องตามห่วงโซ่อุปสงค์-อุปทานได้
ส่วน มกอช.พัฒนาระบบฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและระบบจับคู่ซื้อขายสินค้าเกษตรบนแพลตฟอร์ม E- Matching Market (EMM) มุ่งหวังเพิ่มช่องทางการค้าช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขสินค้าล้นตลาด ไม่โดนกดราคา ซึ่งขณะนี้เครือข่ายประชารัฐรักสามัคคีและ Biz Club Thailand ได้สำรวจและจัดทำแบบฟอร์มเก็บข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท เฮ็ลธ์ฟูดส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้กำหนดที่จะจัดตั้งสาขาต้นแบบร้าน Q4U จำนวน 10 แห่ง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มกอช.จะจัดทำหลักสูตรและพัฒนาการฝึกอบรมการใช้ระบบบนแพลตฟอร์ม E- Matching Market (EMM) และตลาดสินค้าออนไลน์ www. dgtfarm.com และเริ่มดำเนินการสำรวจความต้องการผู้ที่สนใจอบรม เบื้องต้นมีหน่วยงานให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรม ได้แก่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมจัดอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบนแพลตฟอร์ม E- Matching Market (EMM) และตลาดสินค้าออนไลน์ www. dgtfarm.com ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ให้กับเจ้าหน้าที่เกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ (Smart Officer) เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับผู้นำกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกร อย่างเข้าใจ และมีความรู้ ทั้งนี้ ได้ขยายขอบเขต EMM และแผนการขับเคลื่อน รวมถึงแผนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ EMM และตลาดสินค้าออนไลน์ www. dgtfarm.com ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมขับเคลื่อนตลาดนำการผลิตภายใต้ยุทธศาสตร์พระพิรุณ
ทางด้านกรมการข้าวได้พัฒนาระบบตลาด Business Matching Digital Farm (DGTFarm) ในรูปแบบของเว็บไซต์ WWW.DGTFarm.com มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องจับคู่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้าเกษตรออนไลน์ ที่มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชากรของกระทรวงมหาดไทย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลของสินค้าได้ ต่อไปจะพัฒนาแอพพลิเคชัน “Hello Trade” เพื่อให้สามารถใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้ โดยวางแผนจะเปิดตัวการให้บริการอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนในปี 2562 เป้าหมายมีผู้ใช้งานเริ่มต้น 1 ล้านคน และเพิ่มอำนาจการซื้อสินค้ามาตรฐานในร้านค้าของโครงการด้วยระบบบัตรซื้อง่ายขายคล่อง (Micro Credit) รวมถึงการเปิดตัวให้บริการตลาดเกษตรสุขใจซึ่งเป็นระบบค้าส่งสินค้าเกษตรที่ลดความเสี่ยงของธุรกิจ ประหยัดเวลา และร้าน Q4U Shop เป็นระบบค้าปลีกในลักษณะ Free Franchise ที่ร่วมมือลักษณะประชารัฐในการขยายเครือข่ายร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบ QR Trace
และในอนาคตจะขยายคอนเทนต์ให้บริการบนแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้านราคา พื้นที่ ปริมาณ และการตลาดแบบเรียลไทม์ ตลอดจนให้บริการพื้นที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ร่วมกับเครือข่ายสังคม เพื่อทำให้แพลตฟอร์มตลาดเกษตรดิจิทัลนี้สามารถเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าให้แก่เษตรกรที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มผู้ซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ พัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เข้าถึงและเชื่อมโยงตลาดกับแหล่งผลิตได้อย่างน้อย 1 ล้านราย สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย และเพิ่มรายได้ผู้เข้าร่วมโครงการปีละ 6,000-18,000 ล้านบาท ตลอดจนเป็นการสร้างฐานข้อมูลเพื่อการสนับสนุนและพัฒนา กำหนดนโยบาย แผนงาน และโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ก้าวสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะจากการบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อยกระดับการปฎิบัติงานให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย Digital Thailand ของรัฐบาลต่อไป.-สำนักข่าวไทย