บุรีรัมย์ 17 ส.ค. – หลายคนยังมีข้อสงสัย “น้ำข้าวหมาก” กับ “สาโท” แตกต่างกันอย่างไร อะไรผิดกฎหมาย และอะไรเป็นสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น
แม่ทองขัน อวนพล ชาวบ้านดอนแก่นเฒ่า ต.นางาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น อดีตแม่ค้าขายข้าวหมาก สาธิตการทำข้าวหมาก ขนมไทยพื้นบ้าน
ข้าวเหนียวนึ่งหลังผ่านการล้างจะนำมาหมักกับลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากที่เป็นราและยีสต์ทำจากสมุนไพร หมัก 2-3 วัน จะได้ข้าวหมากรสชาติหอมหวานออกร้อนคอเวลารับประทาน ข้าวหมากมีแอลกอฮอล์น้อยมาก แต่ถ้าหมักนาน แอลกอฮอล์จะเข้มขึ้น
แม่ทองขัน อธิบายความแตกต่างระหว่าง “ข้าวหมาก” และ “สาโท” ว่ามีความแตกต่างกัน ตั้งแต่แป้งหมัก ข้าวเหนียวที่นำมาหมัก ระยะเวลาการหมัก ข้าวหมากเรากินข้าวจากการหมัก ส่วนสาโทกินน้ำจากการหมักข้าว
อร่าม เคนานันท์ ชาวบ้านดอนแก่นเฒ่า ผู้เคยทำสาโทมานานถึง 18 ปี เล่าว่า ข้าวหมากและสาโท เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อดีตตนจะทำสาโทไว้เลี้ยงแรงงานช่วงเกี่ยวข้าว หรือช่วงเทศกาลต่างๆ ส่วนข้าวหมาก ชาวบ้านจะทำกินในครัวเรือน ข้าวหมากต่างจากสาโท ข้าวหมากเมื่อหมักได้ที่จะเกิดน้ำเพียงเล็กน้อย ส่วนสาโทจะได้น้ำจากการหมักปริมาณมาก เพราะระหว่างหมักมีการเติมน้ำ คือ ข้าวเหนียว 2 กิโลกรัม จะผลิตสาโทได้ 4-5 ลิตร
ปัจจุบันชาวบ้านดอนแก่นเฒ่า ทำข้าวหมากน้อยลง เพราะแป้งหมักหาซื้อยาก ส่วนสาโทไม่ได้ผลิตนานแล้ว เพราะกลัวผิดกฎหมาย แม้จะรู้สึกเสียดายภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากพ่อแม่. – สำนักข่าวไทย