ดินแดง 17 ส.ค.-รมว.แรงงาน เชื่อเมียนมาจะส่งแรงงานช่วยภาคประมงไทย 4.2 หมื่นคน ด้านผู้ประกอบการหวั่นอาจไม่ส่งจริงแนะแรงงานบังคลาเทศเป็นทางเลือก
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ภาคประมงของไทยต้องการแรงงานทั้งหมด110,000 คน แต่ปัจจุบันมีอยู่ในระบบประมาณ60,000 คน ยังขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 50,000คน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาเป็นอย่างมาก จึงวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง คือสำหรับแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประมาณ 11,000คนและจะครบกำหนดอยู่ได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ ให้สามารถอยู่ต่อในไทยเพิ่มได้อีก2 ปีถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 แต่ต้องขออนุญาตทุก 1 ปี ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ ตั้งแต่วันที่20 ส.ค.–30 ก.ย.2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนอีกมาตรการจะเปิดโอกาสให้แรงงานทั่วไปที่ถือหนังสือเดินทาง , หนังสือเดินทางชั่วคราว ,เอกสารรับรองบุคคลและเอกสารเดินทาง ที่สนใจอยากเข้ามาทำงานภาคประมงสามารถเข้าสู่ระบบในมาตรา 83 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการนโยบาย การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณา และมาตรการสุดท้าย คือการนำเข้าแรงงาน ตามระบบ MOU จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียรมาและเวียดนาม ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา(16 ส.ค.)ได้เข้าหารือกับทางการเมียนมาที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้ข้อสรุปคือทางการเมียนมาตกลงจะส่งแรงงานตาม MOU เข้ามาทำงานในภาคประมงของไทย42,000คน ตามที่ไทยร้องขอ โดยทางไทยได้เสนอค่าจ้างให้ที่10,000-12,000 บาทต่อเดือนและสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งทางการเมียนมาก็พอใจ และทางเมียนมาอยากได้ข้อมูลแรงงานเมียนมาที่ทำงานในไทยจำนวน 36,000 คนว่าทำงานอยู่ที่ไหน ทำงานกับนายจ้างคนใด เพื่อนำเสนอต่อสภาเมียนมา เพื่แใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการส่งแรงงานเข้ามาทำงานที่ไทย โดยคาดว่าจะส่งไปประมาณ 31 ส.ค.นี้ โดยแรงงานเมียนมาที่จะถูกส่งมาทำงานประมงที่ไทย มาจากเมืองตะนาวศรี มะริด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการประมง โดยจะเข้ามาทางเกาะสอง จ.ระนอง
ส่วนกรณีที่นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงอวนล้อมจับแห่งประเทศไทย เสนอให้กระทรวงแรงงาน ควรนำแรงงานจากประเทศบังคลาเทศเข้ามาทำงานในภาคประมงแทนการรอแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีความพร้อมและอยากเข้ามาทำงานในประมงของไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อย ประเทศต้นทางดูแลติดตามแรงงานของเขาเป็นอย่างดี หากเกิดปัญหาเขาจะดึงตัวแรงงานกลับทันทีนั้น รมว.แรงงาน กล่าวว่า จะนำมาพิจาณาเพื่อเป็นข้อเสนอในการหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง และข้อกังวลของทางสมาคมประมงฯที่เกรงว่าทางการเมียนมาอาจจะไม่ทำตามข้อตกลงเพราะเคยหารือมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่แก้ปัญหาไม่ได้นั้น ส่วนตัวมั่นใจว่าเมียนมาจะทำตามข้อตกลง เพราะเป็นการหารือระดับนโยบาย
สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่พบว่ายังขาดแรงงานอยู่ประมาณ 9,000 คนและมากสุดใน จ.ปัตตานี ขาดถึง 8,000คนนั้น ทางการเมียนมาจะส่งแรงงาน มาแก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วย โดยยืนยัน 3 มาตรการที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือน ธ.ค.นี้ .-สำนักข่าวไทย