บุรีรัมย์ 15 ส.ค.-มีความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ได้รับรางวัลไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด ประจำปีนี้ ที่หวังว่า รมว.พลังงาน จะเปลี่ยนใจทบทวนนโยบายอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่ จากเดิมที่ประกาศไว้ 2.40 บาท/หน่วย เหตุผลเพราะอะไร ติดตามจากรายงาน
กองชานอ้อยของแห่งนี้แต่ละปีจะมีกว่า 750,000 ตัน/ปี ทางโรงงานนำไปผลิตเป็นพลังงาน ทั้งนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อต้มไอน้ำในโรงงานน้ำตาลทราย และนำไปผลิตไฟฟ้าตามระบบพลังความร้อนร่วม หรือโคเจนเนอเรชั่น ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งลดต้นทุน สร้างความสามารถการแข่งขัน แม้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกจะตกต่ำ รายได้ก็เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้า เกษตรกรก็ได้ประโยชน์
ที่นี่มี 3 โรงไฟฟ้ากำลังผลิตเกือบ 30 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้รัฐ 16 เมกะวัตต์ พร้อมผลิตขายเพิ่มเติม แต่คงขายไม่ได้ หากรัฐรับซื้อค่าไฟฟ้า 2.44 บาท/หน่วย ตามที่ รมว.พลังงาน กำหนดไว้
เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำกากส่าของโรงงานสุรา ที่ช่วยทั้งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลิตพลังงานได้ โดยนำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นพลังงานแก่หม้อไอน้ำในกระบวนการผลิต และใช้ในผลิตไฟฟ้า รวมทั้งยังคิดค้นนวัตกรรม จดสิทธิบัตรเป็นเจ้าแรกของโลก ในระบบผลิตไฟฟ้าจากการเผาน้ำเสีย ซึ่งบ่อเก็บน้ำหมักก๊าซของที่นี่ดูแปลกตา แต่ก็ออกแบบอย่างแข็งแรงป้องกันอุบัติเหตุไม่คาดคิด โดยถึงแม้ว่าเชื้อเพลิงจะมาจากน้ำเสีย แต่ต้นทุนรวมค่าจัดการก็ไม่สามารถขายไฟฟ้าที่ 2.44 บาท/หน่วยได้
รัฐบาลส่งเสริม ต่อยอดใช้พลังงานทดแทนปัจจุบบันมีกำลังผลิตราว 10,000 เมกะวัตต์ โดยนอกจากใช้มาตรการค่าไฟฟ้าแล้ว การจัดประกวด ไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธสนับสนุน จัดมา 19 ปีแล้ว 2 โครงการนี้ได้รับรางวัลประจำปีนี้ และบุรีรัมย์เพาเวอร์ก็ได้รับคัดเลือกร่วมประกวดอาเซียน เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด 2018 ซึ่งจะมีการมอบรางวัลในเดือนตุลาคมที่ประเทศสิงคโปร์.-สำนักข่าวไทย