โปรตุเกส 23 ก.ย. – กฟผ.ทุ่มทุน 1 พันล้านบาท สร้างศูนย์พยากรณ์ไฟฟ้าพลังงานทดแทนเสร็จปี 64 ย้ำรับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เป้าหมายต้นทุนไม่แพงและมั่นคง
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ติดตามเทคโนโลยีพลังงานทดแทนควบคู่กับราคามาโดยตลอด และดูว่าเวลาใดจะเหมาะสมสำหรับการนำเข้ามาติดตั้งในไทย และต้องดูด้านเทคนิค ว่าจะมีความเสถียรภาพกับระบบยังไงด้วย ถ้ามีปัญหาจะป้องกันและเตรียมแก้ไข โดยที่ผ่านมาเคยมีปัญหาไฟดับในออสเตรเลียจากพลังงานทดแทนและในไทยก็เคยเกิดที่กำแพงแสน จ.นครปฐม ดับครึ่งชั่วโมง ซึ่งการไปดูงานในสเปนและโปรตุเกส ก็จะดูเรื่องการบริหารจัดการที่่ทั่วโลกกำลังพัฒนาระบบซอฟแวร์ ซึ่งไทยจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ไทยกำลังพัฒนาระบบสายส่งและจัดตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานทดแทน ภายใต้โครงการ Smart Grid ของกระทรวงพลังงาน
นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. เปิดเผยว่า จากการศึกษาการเชื่อมโยงไฟฟ้าโปรตุเกสกับสเปนโดยผสมผสานระหว่างพลังงานทดแทนกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งพบว่าความสำเร็จเกิดจากการบริหารจัดการทั้งผู้ผลิต ระบบส่ง และผู้ใช้ไฟ้า มีโครงสร้างค่าไฟฟ้าของยุโรปที่ราคาสูงโดยโปรตุเกสมีราคาต่ำสุดในอียู ที่ 7 บาท/หน่วย ยุโรปมีตลาดกลางซื้อขายไฟ มีวงเงินอุดหนุน จึงเอื้ออำนวยให้เกิดการค้าเสรี สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม
สำหรับไทยหากจะทำแบบนั้นได้ ต้องเตรียมระบบโครงข่ายให้แข็งแรงเชื่อมโยงเป็นอาเซียนกริด เช่น สายส่ง 500 เควีเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และ กฟผ.กำลังทำศูนย์พยากรณ์พลังงานทดแทน หรือ national control center (NCC) หากพยากรณ์แม่นยำจะสามารถคำนวณต้นทุนการผลิตได้แม่นขึ้น และสามารถพยากรณ์ได้ว่าเมื่อลม แดด หายไป จะแก้ปัญหาอย่างไร ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาไฟดับได้ ศูนย์นี้กำลังดำเนินการจะเสร็จสมบูรณ์ปี 2564 เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
“ศูนย์ NCC เพื่อใช้พยากรณ์อากาศและพลังงานทดแทน หรือ RE โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ กฟผ.เตรียมการในอนาคต เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เพื่อบริหารจัดการให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนถูกสุด ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ช่วยให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสมเหตุสมผล สอดคล้องกับบริบทของประเทศ” นายเริงขัย กล่าว
สำหรับการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานทดแทน ภายใต้โครงการ smart grid ของกระทรวงพลังงาน ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2561 โดยในช่วงแรกได้ทำเป็นโมเดล ซึ่งการพยากรณ์ RE ทั้งลม แสงแดด จะต้องใช้ข้อมูลพยากรณ์ ซึ่งเป็น Big data จึงได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และศูนย์พยากรณ์น้ำ เพื่อนำข้อมูลเมฆ ลม ความเข้มของแสง มาพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจาก RE
โดยปี 2561 จัดทำการพยากรณ์นำร่อง 8 แห่ง แบ่งเป็นพยากรณ์ ลม 4 แห่ง แสงแดด 4 แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ ปี 2562 จะขยายผลไปยังโรงไฟฟ้า SPP 12 แห่ง ปี 2563 ขยายผลไปยังโรงไฟฟ้า VSPP ซึ่งมีจำนานมากกระจายทั่วประเทศ และปี 2564 จะได้เห็นความสมบูรณ์ที่ศูนย์ NCC เพื่อใช้พยากรณ์อากาศ และ RE โดยเฉพาะ .-สำนักข่าวไทย