กรุงเทพฯ 12 สค . – บมจ. ปตท .คาดราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้ขยับขึ้น ส่วนไตรมาส 2/61 กำไรหด เหตุขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสูง ส่วนความต้องการก๊าซฯคาดปีนี้หดตัวร้อยละ 1.9 กระทบจากภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนใช้เองเพิ่มขึ้น
ปตท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ถึงผลประกอบการไตรมาส 2/2561 และคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 69-74 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับเฉลี่ย 68 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในครึ่งปีแรก ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาส 3/61 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรล/วันจากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ระดับ 99.3 ล้านบาร์เรล/วัน และความต้องการใช้น้ำมันโลกของปี 61 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วันไปอยู่ที่ระดับ 99.1 ล้านบาร์เรล/วันตามรายงานของ IEA ณ เดือนก.ค.61
สำหรับภาวะอุปทานล้นตลาดคาดว่าจะลดลงจากแผนความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปกอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง การคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ยังคงต้องติดตามการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และปัญหาความขัดแย้งทางการค้า
ด้านค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปี 61 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2-6.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับลดลงจากปี 60 ตามภาพรวมตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่มีอุปสงค์ลดลงเมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนความต้องการใช้ก๊าซฯ ในประเทศปี 61-65 คาดว่าจะลดลง 1.9% โดยประมาณการตามสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย , การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าที่ลดลง เนื่องจากเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง นอกจากนี้ ในระยะยาวความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าก็ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์เดิม โดยคาดว่าจะเข้าไปทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เพียงบางโรง และทดแทนแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่ 30% โดยคาดว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) อาจเกิดได้ตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้เดิม
เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส3/2561 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจาก ไตรมาส2/2561 เนื่องจากคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว ชะลอลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากการระบายสินค้าคงคลัง (inventory destocking) มากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะปรับลดลงตามการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปปี 2562 ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้น ของการดาเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ระยะเวลาของการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศพัฒนาแล้ว ความผันผวนของค่าเงินบาท และความล่าช้าในการเบิกจ่ายของภาครัฐ
ในไตรมาส 2 ปี 2561 (Q2/2561) ปตท. และบริษัทย่อยมีกาไรสุทธิ 30,029 ล้านบาท ลดลง 9,759 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.5 จากไตรมาส 1 ปี 2561 (Q1/2561) ท่ีมีกาไรสุทธิ 39,788 ล้านบาท สาเหตุหลักจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการรับรู้ค่าใช้จ่ายทางภาษีของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นของเงินกู้สกุลต่างประเทศของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานปกติโดยรวมของไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ปรับสูงขึ้นจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติดีขึ้นโดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดีขึ้นจากไตรมาสก่อนจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำมันปรับลดลงตามกำไรขั้นต้นของน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2/61 เฉลี่ยอยู่ที่ 72.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ที่อยู่ที่ 63.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจากไตรมาส 2/60 ที่อยู่ที่ 49.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท cracking อ้างอิงที่สิงคโปร์ในไตรมาส 2/61 เฉลี่ยอยู่ที่ 6.0 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาส 1/61 และไตรมาส 2/60 ที่อยู่ที่ 7.0 และ 6.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ-สำนักข่าวไทย