กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – ราคาแอลพีจีโลกดีดตัวตามราคาน้ำมัน แต่ กบง. ยังกัดฟันตรึงราคา เช่นเดิม คาด 3 พันล้านบาทหนุนถึงสิ้นปี ส่วน เอสพีพีโคเจน มีกรอบการพิจารณาแต่ยังรอ กพช.ทบทวน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง. หารือราคาแอลพีจี พบแม้ราคาตลาดโลกหรือซีพีจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉียด 600 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ตามราคาน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจีติดลบเกือบ 1 พันล้านบาท แต่ กบง.ยังมีมติตรึงราคาเช่นเดิม โดยถังแอลพีจีขนาด15 กก. ราคาจะอยู่ที่ 363 บาท ต่อไป โดยคาดว่า กรอบราคาอุดหนุนโดยกองทุนน้ำมันบัญชีน้ำมันจะอุดหนุนราคาแอลีจีในระดับนี้จนถึงสื้นปีนี้ ในกรอบอุดหนุนไม่เกิน 3 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุม กบง. รับทราบสถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลก (CP) เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 587.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 25.00 เหรียญสหรัฐ/ตัน (เดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ 562.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน)
ส่วนเรื่องการต่ออายุรับซื้อไฟฟ้าเอสพีพี ระบบโคเจนเนอเรชั่น 25 โรง 2 พันเมกะวัตต์ ที่ประชุมได้หารือ มีแนวทางพิจารณาแต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดโดยต้องนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เสียก่อน
นอกจากนี้ กบง. รับทราบความก้าวหน้าการส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนจากค่าบริการขนส่งและค่าโดยสารรถสาธารณะ รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด และสร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมันว่า มีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เข้าร่วมโครงการและได้รับความเห็นชอบให้จำหน่าย B20 ได้จำนวน 5 ราย ได้แก่ ปตท. บางจาก ไออาร์พีซี ซัสโก้ พี.ซี.สยามปิโตรเลียม รวมปริมาณ 5.38 ล้านลิตร/เดือน และล่าสุดปริมาณจำหน่าย B20 ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2561 พบว่า มีปริมาณรวม 1.31 ล้านลิตร โดยใช้เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.14 ล้านบาท
ที่ประชุมฯ รับทราบ สรุปความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบสายจำหน่าย รองรับความต้องการฟ้าสูงสุดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปกติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน
ทั้งนี้ สรุปพีคไฟฟ้าของปี 2561 แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1. ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ จากระบบ กฟผ. รวมกับข้อมูลการประเมินจากพีคไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง/ขายตรง (ผู้ผลิตเอกชน และSPPขายตรง) ซึ่งพีคเกิดขึ้นเมื่อ วันอังคารที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ มีค่าสูงกว่าพีคของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 0.6%
2. ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า เกิดขึ้นเมื่อ วันอังคารที่24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. อยู่ที่ระดับ 29,968 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าพีคปีก่อน โดยลดลง 1.1% . – สำนักข่าวไทย