กระทรวงการคลัง 9 ส.ค. – คณะกรรมการ พีพีพี เร่งสปีดงบค้างท่ออีก 4 แสนล้านให้จบในปีนี้ ทั้ง รถไฟฟ้า ม่วง ส้ม มอเตอร์เวย์ พร้อมเบรก เส้น นครปฐม – ชะอำ หลังกฎหมายคุมเครือ
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการลงทุนภายใต้มาตรการพีพีพี ฟาสต์แทรก 8 โครงการ ให้ได้ตามกรอบที่กำหนด ทำให้ในปี 61 นี้จะมีการอนุมัติโครงการลงทุนพีพีพีเพิ่มได้อีก 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก วงเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ อีก 7.9 หมื่นล้านบาท
“ช่วงครึ่งปีแรกมีการอนุมัติโครงการลงทุนพีพีพีไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท และช่วง 4 เดือนสุดท้ายจะอนุมัติเพิ่มอีก 3-4 แสนล้านบาท รวมทั้งปีเป็นวงเงินลงทุนพีพีพีรวม 4-5 แสนล้านบาท ตลอดจนจะเร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตให้เสนอได้ไวขึ้นจากปี 62 เป็นภายในปี 61ด้วย” นายประภาศกล่าว
นายประภาศกล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพีพีพี ยังได้สั่งให้ทบทวนโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการฯ เห็นว่า รูปแบบของโครงการลงทุนน่าจะเข้าข่ายกฎหมายทางหลวงสัมปทานมากกว่าทางหลวงพิเศษ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาและนำกลับมาเสนอให้ได้ในเดือนก.ย.นี้แทน โดยกฎหมายทั้ง 2 ส่วนมีข้อแตกต่างกัน ถ้าเป็นทางหลวงสัมปทานจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการคิดค่าผ่านทาง แต่ถ้าเป็นทางหลวงพิเศษจะมีข้อจำกัดในการคิดค่าผ่านทาง
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ของกรมการขนส่งทางบก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่า 1,361 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่าก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ระยะเวลาโครงการ 30 ปี อีกโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลค่า 2,829 ล้านบาท โดยมีลักษณะการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการแรก แต่ระยะเวลาสั้นกว่าเพียง 15 ปี ซึ่งจากนี้จะต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการได้รับทราบสถานะของโครงการร่วมลงทุนและเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาของสัญญาเหลือน้อยกว่า 5 ปี เร่งจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดให้แล้วเสร็จโดยเร็วตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 56 โดยคำนึงถึงภาระทางด้านการเงิน ทรัพย์สิน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง . – สำนักข่าวไทย