ภูมิภาค 4 ส.ค.61- กรมชลประทานสั่งจับตา 2 เขื่อนเฝ้าระวังน้ำเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ซึ่งระดับน้ำเกินระดับกักเก็บแล้ว และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ขาดอีกเพียงร้อยละ 5 น้ำก็จะล้นสปิลเวย์ ด้าน สนทช. ชี้ 115 เขื่อน – อ่างเก็บน้ำวิกฤตหนัก น้ำทะลุเกินเกณฑ์ เร่งระบายภายใน 10 วัน จับตาเดือนนี้เจอพายุซ้ำ
เขื่อนน้ำอูน ที่สกลนคร ปริมาณน้ำกักเก็บทะลุ 101% ขณะที่เขื่อนแก่งกระจาน เพชรบุรี ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 95% แล้ว จนต้องนำเครื่องสูบน้ำไฮโดรลิก จำนวน 10 เครื่อง ขนาด 2 คิว 7 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำดีเซลขนาด 12 นิ้ว 10 เครื่อง รวม 27 เครื่อง จากสำนักเครื่องจักรกลกรมชลประทาน มาติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำ ก่อนที่น้ำจะล้นสปิลเวย์ เนื่องจากขณะนี้น้ำได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่องและเสมอสปิลเวย์แล้ว หากปล่อยน้ำให้ล้นสปิลเวย์เอง จะทำให้ความรุนแรงของน้ำมีมากกว่า และขอให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำเพชร ให้เฝ้าติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 674.452 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94.99% เปิดระบายน้ำ 107.69 ลบ.ม./วินาที เขื่อนแก่งกระจาน ในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 เพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี 107.69 ลบ.ม./วินาที โดยจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายน้ำในบางแห่ง ด้านเขื่อนเพชร ปรับการระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี จากในวันนี้ 68.13 ลบ.ม./วินาที เป็นประมาณ 70.00 ลบ.ม./วินาที แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ
ล่าสุดนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเรียก กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน ประเมินสถานการณ์น้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน ห้องประชุมชั้น 3 กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่อเนื่อง คาดว่าน้ำจะล้นสปิลเวย์พรุ่งนี้
ทั้งยังมีมวลน้ำที่จะล้นสปิลเวย์สร้างความเสียหายให้กับสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่อำเภอแก่งกระจานไปจนถึงอำเภอบ้านแหลม มวลน้ำกว่า 300 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี จึงได้สั่งเตรียมการทุกหน่วยงาน เพราะคาดว่าน้ำที่ระบายจากเขื่อนแก่งกระจาน จะไหลเข้าสู่เขตอำเภอเมืองในเย็นวันที่ 6 สิงหาคม ขอให้ประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำได้เตรียมยกของขึ้นที่สูง ส่งผลกระทบตั้งแต่ท้ายน้ำ ตั้งแต่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองมาจนถึงอำเภอบ้านลาด
นายสมเกียรติยังเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต” ขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากขณะนี้มีฝนตกจำนวนมาก ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุมที่กำหนดไว้ 80-100% แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 12 แห่ง และขนาดกลาง 103 แห่ง ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้ามาในไทยผ่านภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดลำน้ำโขง และฝั่งภาคตะวันตกอีกระลอก กฟผ. และกรมชลประทานจึงเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนให้มากที่สุดภายใน 10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนมีปริมาณน้อย เพื่อรองรับปริมาณฝนตกหนักในช่วงกลางเดือน ส.ค.เป็นต้นไป โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์สุ่มเสี่ยง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี ขอให้ประชาชนในพื้นที่รับน้ำให้เตรียมตัว โดยขณะนี้กรมชลฯ กำลังเร่งตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อนทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากต้องกำหนดจุดระบายน้ำฉุกเฉินในแต่ละเขื่อนให้ได้ โดยจะให้กระทบพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด สำหรับเขื่อนน้ำอูน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 525 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นฉุกเฉิน ประมาณ 6 เซนติเมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำล้น 1.22 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 656 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด 219.81 ล้าน ลบ.ม. และมีการระบายน้ำ 9 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนวชิราลงกรณ ปริมาณน้ำ 7,298 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด 1,038 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 36 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนยโสธรวิกฤตปักธงแดงเตือนประชาชนหลังน้ำชีเพิ่ม
เขื่อนกั้นแม่น้ำชีที่จังหวัดยโสธรถึงขั้นวิกฤตขึ้นธงแดง แจ้งเตือนประชาชน หลังปริมาณน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับมีน้ำจากลำน้ำยัง ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร และน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ไหลลงมาสมทบ ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดยโสธร
สถานการณ์ปริมาณน้ำในแม่น้ำชี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนยโสธรในพื้นที่ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ต้องถึงขั้นปักธงแดง เตือนประชาชน พร้อมแขวนประตูระบายน้ำ สูงสุดทั้ง 8 บาน เนื่องจากเขื่อนยโสธร มีปริมาณน้ำอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว พร้อมกับประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวตลิ่งให้เฝ้าระวัง ขณะที่ทางเขื่อนยโสธรจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าคอยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับยโสธรประสบอุทกภัยแล้ว 5 อำเภอ 3,900 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรเสียหายเกือบ 40,000 ไร่
นครพนมลุ้นเขื่อนลาวปล่อยน้ำ ลำน้ำอูนไม่พ้นวิกฤติ
ส่วนสถานการณ์น้ำโขงในพื้นที่นครพนมเพิ่มปริมาณสูงสุดในรอบ 10 ปี และยังไม่พ้นวิกฤต โดยโครงการชลประทานนครพนม แจ้งว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจากสถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสงเขตเทศบาลเมืองนครพนม มีปริมาณอยู่ที่ระดับ 12.42 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 8 เซนติเมตร ส่วนสาเหตุที่แม่น้ำโขงมีระดับสูง อาจเกิดจากประเทศเพื่อนบ้านปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาสมทบ ซึ่งขณะนี้ลุ้นว่าลาวจะระบายน้ำจากเขื่อนน้ำเทิน 2 มาหรือไม่ ถ้าปล่อยออกมาจะกระทบฝั่งไทย บริเวณพื้นที่จังหวัดนครพนมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ปริมาณน้ำได้ล้นสปิลเวย์แล้ว จำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำสาขา ซึ่งจะเกิดผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำในพื้นที่อำเภอนาหว้า ศรีสงคราม ท่าอุเทน ทางการได้แจ้งเตือนให้ชาวบ้านขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงไปยังที่ปลอดภัย
หนองคายน้ำโขงยังสูงเทศบาลเร่งสูบน้ำ
ส่วนที่หนองคายระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มทรงตัวและลดลงเล็กน้อย ล่าสุดวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ อยู่ที่ระดับ 11.32 เมตร ลดลงจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ 40 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 88 ซม. แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ และยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเทศบาลเมืองหนองคายยังคงปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 ประตู (ปิดต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.) และเร่งเดินเครื่องสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมพื้นที่ชั้นใน และเป็นการพร่องน้ำรับน้ำฝนที่จะตกระลอกใหม่.-สำนักข่าวไทย